สถิติการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชา
.
การเกษตร ป่าไม้ และประมงของกัมพูชา ได้ประกาศสถิติการส่งออกสินค้าเกษตรในช่วง 8 เดือนแรกของปี 64 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 63 ร้อยละ 89.7 โดยปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 2.42 ล้านตันเป็น 5.54 ล้านตัน สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ข้าวสาร ยาง มันสําปะหลัง มะม่วง กล้วย พริกไทย และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ประเทศที่มีการส่งออกไปมากที่สุด ได้แก่ จีน ซึ่งนําเข้าข้าวสารจากกัมพูชา 165,612 ตัน คิดเป็นร้อยละ 48 ของปริมาณข้าวสารส่งออกทั้งหมด ถึงแม้ธุรกิจส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชายังคงเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสินค้าประเภทจําเป็นต่อการดํารงชีวิต
.
แผนการสร้างท่าเทียบเรือในกัมพูชา
.
ในส่วนของแผนการสร้างท่าเทียบเรือในกัมพูชา มีการดำเนินการตามแผนงานด้านโลจิสติกส์อยู่ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเทียบเรือน้ำลึกแห่งใหม่ ณ ท่าเรือสีหนุวิลล์ Sihanoukville Autonomous Port (PAS) ที่ได้ประกาศเลื่อนแผนการก่อสร้างระยะแรกออกไปเป็นกลางปี 2565 จากกําหนดการเดิมกลางปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และการปรับปรุงรูปแบบการก่อสร้าง โดยคาดการว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 โดยท่าเทียบเรือน้ำลึกมีความลึก 14.50 เมตร กว้าง 350 เมตร สามารถรองรับเรือการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่และบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทางน้ำให้กับกัมพูชา สอดรับกับแผนงานด้านโลจิสติกส์ อีกทั้ง กัมพูชายังอยู่ระหว่างการสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกรุงพนมเปญ – จังหวัดพระสีหนุ อันจะช่วยเชื่อมโยงการขนส่งทางบกและทางน้ำภายในกัมพูชาได้อย่างคล่องตัว ทั้งนี้ โครงการเป็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (ODA) จากรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้งบประมาณ 218 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีกหนึ่งท่าเรือ คือ ท่าเรือกรุงพนมเปญ ซึ่งได้ทำการเปิดใช้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 โดยมี นายซุน จันทอล รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งกรุงพนมเปญ เป็นประธานในพิธี อนึ่ง ท่าเทียบเรือใหม่นี้เริ่มก่อสร้างในปี 2562 ด้วยงบประมาณ 18.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ 400,000 ตู้ต่อปี หรือ 900,000 TEUs (หน่วยวัดความสามารถในการรองรับการขนถ่ายสินค้า) โดยท่าเรือกรุงพนมเปญวางแผนที่จะขยายท่าเรือให้รองรับสินค้าได้ 500,000 TEUs ต่อปีในระยะต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 การพัฒนาการขนส่งทางน้ำไม่ว่าจะเป็น ท่าเทียบเรือน้ำลึกแห่งใหม่ ณ ท่าเรือสีหนุวิลล์ Sihanoukville Autonomous Port (PAS) หรือท่าเรือกรุงพนมเปญ ถือเป็นการดําเนินการตามแผนแม่บทด้านระบบโลจิสติกส์ที่สำคัญของกรุงพนมเปญ และยังเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการพัฒนาท่าเรือทั้งสองให้เป็น Logistic Complex ซึ่งอาจจะมีการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชนในศูนย์โลจิสติกส์ทั้งสองแห่งนี้ในอนาคต
.
ด้านความตกลงการค้าเสรีระหว่าง กัมพูชา-เกาหลีใต้ (CNFTA) และกัมพูชา- จีน (CCFTA)
.
ความตกลงการค้าเสรีระหว่าง กัมพูชา-เกาหลีใต้ (CNFTA) คาดว่าจะลงนามได้ภายใน เดือนตุลาคม 2564 หลังจากเลื่อนการลงนามมาแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ในขณะที่ร่างความตกลงการค้าเสรี กัมพูชา-จีน ได้รับการอนุมัติจากสภาแห่งชาติกัมพูชาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 โดยคาดว่าจะมีการลงนามในช่วงต้นปี 2565 อย่างไรก็ดี ความตกลงทั้งสองนี้ นับเป็นการสร้างประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งออกสินค้าของกัมพูชา โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรที่สามารถส่งออกไปยังจีนและเกาหลีใต้ได้ในสาขาที่หลากหลายและในปริมาณที่มากขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศกับกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ก็ตาม
.
ด้านการเก็บภาษีนำเข้าสำหรับกัมพูชาในเวียดนาม
.
เวียดนามประกาศลดภาษีนําเข้าสําหรับสินค้าจากกัมพูชา คิดเป็นร้อยละ 9 จากสินค้า 31 รายการ ได้แก่ กลุ่มสัตว์ปีกมีชีวิต รวมถึงเนื้อและชิ้นส่วนของสัตว์ปีก มะนาว ข้าว เนื้อหมู และใบยาสูบที่ยังไม่แปรรูป ทั้งนี้ เวียดนามยังได้กําหนดโควตานําเข้าข้าวจากกัมพูชาด้วย ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในการส่งเสริมการค้าทวิภาคี ระหว่างเวียดนาม-กัมพูชา ในช่วงปี 2564-2565 เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค กัมพูชาได้ทำการจดทะเบียนบริษัทและขอใบอนุญาตต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ของกัมพูชา เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 โดยมี นายโอน ปวนมุนีร็วต รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา เป็นประธานในพิธีเปิดใช้ระบบการจดทะเบียนบริษัทและการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ในระยะที่ 2 หรือ “Business Registration System on Information Technology Platform – Phase II” ผ่านเว็บไซต์ www.registrationservices.gov.kh ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กระทรวงแรงงานกัมพูชา กระทรวงอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมกัมพูชา กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา กระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม กรมสรรพากรกัมพูชา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชา (CDC) และ Real Estate Business and Pawnshop Regulator of Non-Bank Financial Services Authority
.
การปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 48 (สแรออมบิล – จ. เกาะกง)
.
นายซุน จันทอล รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งกัมพูชา เป็นประธานในพิธีลงนามความตกลงการก่อสร้างและปรับปรุงถนนหมายเลข 48 โดยการปรับปรุงนี้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ถนนเส้นดังกล่าวมีความยาวกว่า 150 กิโลเมตร เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 4 (กรุงพนมเปญ – จังหวัดพระสีหนุ) บริเวณอำเภอสแรออมบิล จังหวัดเกาะกง ไปยังกรุงเขมรภูมินทร์ จังหวัดเกาะกง (ห่างจากชายแดนไทย – กัมพูชาประมาณ 90 กิโลเมตร) โดยมีแผนที่จะปรับปรุงถนนเส้นนี้เป็นถนนคอนกรีตและคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2 และ 4 ช่องจราจร คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่ง และจะเริ่มดําเนินการก่อสร้างภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
.
จากข้อมูลการยกเว้นภาษีในกลุ่มสินค้า 31 รายการข้างต้น มีสินค้าบางรายการ ได้แก่ เนื้อหมูและสัตว์ปีก ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงในประเทศเวียดนาม ส่งผลให้กัมพูชาต้องเร่งส่งออก แต่ในขณะเดียวกัน กัมพูชาเองยังคงมีปริมาณการบริโภคสินค้าดังกล่าวเท่าเดิมหรืออาจจะมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสดีต่อภาคการผลิตของไทย ในการเร่งส่งออกสินค้าประเภทเนื้อหมู และสัตว์ปีกไปยังกัมพูชา ทั้งนี้ การปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 48 ซึ่งเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 4 ถือเป็นข้อได้เปรียบสําหรับผู้ลงทุนชาวไทยเช่นเดียวกัน ในการวางแผนขนส่งสินค้าเข้ามายังกัมพูชา โดยผ่านจังหวัดเกาะกงและเชื่อมต่อไปยังทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกรุงพนมเปญ – จังหวัดพระสีหนุ อันจะช่วยเพิ่มช่องทางในการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านและลดระยะเวลาในการขนส่ง
.
สถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงพนมเปญ