นาย Charles Michet ประธานคณะมนตรียุโรปกล่าวในงานประชุม 13th European Space Conference เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 ว่านโยบายด้านอวกาศมีความสําคัญยิ่งสําหรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและยุคดิจิทัล ตั้งแต่เรื่องข้อมูล Internet of Things บรอดแบนด์ การสํารวจโลก และระบบการส่งดาวเทียม ยานอวกาศสู่ห้วงอวกาศ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอากาศยังจะมีผลโดยตรงต่อเป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์ของอียูในการพึ่งพาตัวเองมากขึ้นหรือ Strategic Autonomy ทั้งนี้ โปรตุเกสในฐานะประธานคณะมนตรียุโรปได้ประกาศเป้าหมายผลักดันโครงการ EU Space Programme ในช่วงวาระ 6 เดือนแรกของปีนี้ด้วย
.
โครงการ EU Space Programme (EUSP) ของปี ค.ศ. 2021 – 2027 จะได้รับงบประมาณรวม 14.8 พันล้านยูโร เพิ่มจาก 12.6 พันล้านยูโร ของปี ค.ศ. 2014 – 2020 โดยแบ่งเป็น 3 โครงการย่อย ได้แก่
.
(1) “Galileo และ EGNOS” ระบบดาวเทียม GPS ของอียู จํานวน 9.01 พันล้านยูโร
.
(2) “Copernicus” ระบบดาวเทียมสํารวจโลก จํานวน 5.43 พันล้านยูโร
.
(3) “SSA และ GOVSATCOM” ระบบดาวเทียมเพื่อการเตือนภัยและการสื่อสารของรัฐบาล จํานวน 442 ล้านยูโร
.
เป้าหมายคือการมีฐานข้อมูลและบริการด้านอวกาศที่ทันสมัยและปลอดภัยอันจะนําไปสู่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองของอียู และสนับสนุนบทบาทของอียูในฐานะผู้นําในสาขาอวกาศ ทั้งนี้ อียูมีแผนจะปรับโครงสร้างของหน่วยงาน โดยยกระดับ European GNSS Agency (GSA) ขึ้นเป็น EU Agency for the Space Programme เพื่อให้บริหารจัดการโครงการอวกาศทั้ง 3 ข้างต้นอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวกัน
.
ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในสาขาอวกาศ
.
การแข่งขัน สื่อรายงานว่า เมื่อเดือน พ.ย. 2563 บริษัทสหรัฐฯ SpaceX ประสบความสําเร็จในการพัฒนาจรวด Falcon 9 ลําแรกในโลกที่สามารถนํามากลับใช้ใหม่ได้ ในขณะที่บริษัท Arianespace ของอียู ยังสร้างจรวด Ariane 6 ด้วยเทคโนโลยีดั้งเดิมอยู่ ประกอบกับโครงการสร้างจรวด Ariane 6 ยังต้องล่าช้าออกไปด้วยสถานการณ์โควิด-19 โดยนาย Bruno Lemaire รัฐมนตรีเศรษฐกิจฝรั่งเศสยอมรับว่าเมื่อ 7 ปีที่แล้ว อียูน่าจะมีความกล้าหาญมากกว่านี้ที่จะเลือกพัฒนาจรวดแบบใช้ซ้ำได้ ดังนั้น อียูจึงตระหนักว่าจะต้องเร่งเครื่องเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศก่อนที่จะถูกบริษัทสหรัฐฯ เช่น SpaceX และ Blue Origin ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดการปล่อยจรวดเพื่อส่งยานอวกาศและดาวเทียมไปมากกว่านี้ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปจะพยายามสนับสนุนให้รัฐบาลประเทศสมาชิกเลือกใช้จรวด Ariane มากกว่าของบริษัทสหรัฐฯ
.
ความร่วมมือ ระหว่างอียูและสหรัฐฯ เป็นเสาหลักของ global space effort มาตลอด โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศที่เปิดเสรี เสริมสร้างการเข้าถึงข้อมูลอวกาศ และเพิ่มความสามารถในการทํางานร่วมกัน (interoperability) อาทิ เมื่อปี ค.ศ. 2015 ทั้งสองได้ลงนามความตกลงเรื่องการแบ่งปันข้อมูลสํารวจทรัพยากรจากดาวเทียม Copernicus เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายการแบ่งปันข้อมูลจากดาวเทียมของภาครัฐเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และเมื่อปี ค.ศ. 2017 NASA ได้ลงนามความตกลงกับองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency: ESA) ร่วมพัฒนายานอวกาศ Orion สําหรับขนส่งมนุษย์ในอวกาศเพื่อทําภารกิจสํารวจอวกาศเชิงลึก (deep-space exploration)
.
อนึ่ง หนังสือพิมพ์ Luxembourg Times ได้รายงานว่า นาย Jan Wormer ผู้อํานวยการ European Space Agency แสดงความหวังว่าภายหลังที่นายโจ ไบเดน เข้ารับตําแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยุโรปและสหรัฐฯ อาจสามารถรื้อฟื้นความร่วมมือการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ได้ โดยที่ผ่านมา มีเพียงสหราชอาณาจักร อิตาลี และลักเซมเบิร์กที่ได้ลงนามความตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords) กับสหรัฐฯ สําหรับภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์และดาวอังคาร เนื่องจากประเทศสมาชิกอื่นของ ESA มองว่านายโดนัล ทรัมป์ สหรัฐฯ สนับสนุนการเพิ่มบทบาทของเอกชนในอุตสาหกรรมอวกาศและเกรงว่าโครงการอาร์เทมิสจะส่งเสริมของสหรัฐฯ ให้มีการเปิดตลาดเสรีมากขึ้น ซึ่งอาจมีโน้มน้าวให้ประเทศอื่น ๆ พิจารณาร่วมลงนามในความตกลงนี้ได้
.
ข้อสังเกตุ
.
สภาหอการค้าสหรัฐฯ ประจําอียู รายงานการคาดการณ์ว่า ในระยะ 20 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 1.1 – 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมอวกาศ อาทิ การแสวงหาทรัพยากรในอวกาศและ/หรือการให้บริการเที่ยวบิน อวกาศเชิงพาณิชย์ เนื่องจากการแข่งขันในอวกาศมิใช่การแข่งขันระหว่างประเทศมหาอํานาจอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ปัจจุบันบริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศให้ก้าวหน้ามากขึ้น
.
สำหรับประเทสไทย ที่ผ่านมา อียูอาจจะตอบรับดีต่อความสนใจของไทยที่จะมีความร่วมมือกับโครงการ Copernicus เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และหากมีประเด็นด้านอวกาศอื่นที่ไทยสนใจอาจน่าจะแสวงหาโอกาสความร่วมมือกับอียูได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศเป็นโอกาสทางธุรกิจแห่งอนาคต เนื่องจากไทยมีศักยภาพทางการผลิต ความรู้ทางวิชาการ และโลจิสติกส์ ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ / คณะผู้แทนไทยประจําสหภาพยุโรป