เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 สถาบัน European Policy Centre (EPC) ในกรุงบรัสเซลส์ ได้จัดงานเสวนาวิชาการออนไลน์ในหัวข้อ “The road to Glasgow and COP26: Time to accelerate global efforts to tackle climate change” โดยมีนาย Jacob Werksman, ที่ปรึกษาของ DG Clima, นาย Nick Bridge, ผู้แทนพิเศษของกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, นาง Sabine Frank, Executive Director, กลุ่ม Carbon Market Watch และ นาย Wendel Trio, Director, เครือข่าย Climate Action Network เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การเสวนาได้รับเกียรติจากนาง Annika Hedberg นักวิชาการอาวุโสของสถาบัน EPC เป็นผู้ดําเนินรายการ สรุปสาระสําคัญได้ดังนี้
.
นาง Annika Hedberg (EPC) กล่าวเปิดการเสวนาด้วยการฉายภาพรวมว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผล ให้การเจรจาเรื่องโลกร้อนของคณะทํางานเป็นไปด้วยความยากลําบาก และส่งผลให้การประชุม COP26 ระหว่างผู้นําโลกที่เมืองกลาสโกว์ ในสก็อตแลนด์ สหราชอาณาจักร ต้องเลื่อนออกไปจนถึงเดือน พ.ย. 2564 โดยหัวข้อสําคัญของการประชุมครั้งนี้ จะมีทั้งวาระการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดที่มีเรื่องโลกร้อนเป็นหัวใจสําคัญ และกรอบเวลาที่ประเทศต่าง ๆ ต้องเร่งดําเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังตามเงื่อนไขของความตกลงปารีส เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตโลกร้อน ดังนั้น การที่จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอียู ออกมาให้คํามั่นในช่วงที่ผ่านมาว่าจะลดการปล่อยก๊าซ CO2 เหลือศูนย์ภายในปี 2593 (สําหรับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอียู) และภายในปี 2603 (สําหรับจีน) จึงมีความสําคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย ในขณะที่นานาชาติต่าง หวังว่ารัฐบาลชุดถัดไปของสหรัฐฯจะกลับเข้าร่วมความตกลงปารีสและลงมือแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังอีกครั้ง
.
นาย Nick Bridge (กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร) ในฐานะเจ้าภาพหลักในการจัดการ ประชุม COP26 ร่วมกับอิตาลี กล่าวต่อไปว่าแม้ในปี 2563 ที่ผ่านมามีสัญญาณเชิงบวกจากผู้นําจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงอียู แต่ยังมีความท้าทายในการนําไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งต้องมาดูรายละเอียดเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการของแต่ละประเทศ (Nationally Determined Contribution : NDCs) ว่าจะเพียงพอหรือไม่ในภาพรวมที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศา ในขณะที่ต้องจับตาท่าทีของสหรัฐฯ รัสเซีย ออสเตรเลีย และบราซิล โดยสหราชอาณาจักรจะทํางานเชิงรุกในการประสานงานกับประเทศต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาข้อกําหนดการดําเนินงานที่เกี่ยวข้องตามความตกลงปารีส ข้อ 6 ซึ่งมีความซับซ้อน และรับปากจะผลักดันข้อเสนอแนะของประเทศกําลังพัฒนาโดยเฉพาะประเด็นด้านการเงินในการปรับตัวด้านการลดก๊าซต่อที่ประชุม G7 และ G20 ก่อนการประชุม COP26 นอกจากนี้ ยังย้ําว่าการแก้ไขปัญหาโลกร้อนต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์โดยยึดหลักของความรับผิดชอบร่วมกันในระดับการพัฒนาที่แตกต่าง รวมถึงยังจําเป็นต้องมีการดําเนินการแบบองค์รวมเพื่อปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ และการลงทุนในโครงการต่างๆ โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทร่วมดําเนินการกับภาครัฐในทุกมิติ ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับโลก เพื่อนําไปสู่การดําเนินงานในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบ
.
นาย Jacob Werksman (DG Clima) กล่าวว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนของอียูแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้
.
1) ในระดับประเทศ ประเทศสมาชิกอียูตั้งเป้าว่าจะลดก๊าซเรือนกระจก จากเดิมร้อยละ 40 เป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 55 ภายในปี 2573 ซึ่งอียูจะผลักดันให้มีการระบุเป้าหมายดังกล่าวในกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ (Climate law) เพื่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างชาติสมาชิกด้วยกัน นอกจากนี้ อียูยัง ได้จัดทําโร้ดแมพ “Fit for 55 Package” ซึ่งเป็นแผนการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วย 2 มาตรการ คือ “การปรับปรุงการใช้พลังงาน (Source)” และ “เพิ่มพื้นที่ป่า (Sink) โดยคาดว่าจะผ่านข้อเสนอสําคัญ อาทิ การจัดเก็บภาษีคาร์บอน การปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนระบบซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอน ภายในปี 2564
.
๒) ในระดับทวิภาคี อียูต้องการเรียกร้องให้สหรัฐฯกลับเข้ามาเพิ่มบทบาทในเวทีการเจรจาและยกระดับการดําเนินงานด้านการลดก๊าซของประเทศให้มีความเข้มข้นมากขึ้น และมองว่าประเทศกําลังพัฒนาบางประเทศควรมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านกองทุน Adaptation Fund แก่ประเทศยากจนในการปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี 2568
.
๓) ในระดับสากล อียูต้องการผลักดันการกําหนดบรรทัดฐานสากลในบริบท Article 6 ของความตกลงปารีส ร่วมกับประเทศภาคีต่างๆ ภายใต้กรอบความโปร่งใส อาทิ การเปิดเผยข้อมูลเพื่อการติดตามความก้าวหน้า ในการดําเนินงานตาม NDCs ตลอดจนการจัดทําบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
.
นาง Sabine Frank (กลุ่ม Carbon Market Watch) ย้ําว่าทางเดียวที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนที่ต้นเหตุคือ การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้น ตนจึงไม่เห็นด้วยกับกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศ เช่น กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ที่อนุญาตให้ประเทศพัฒนาแล้วสามารถนําปริมาณก๊าซที่ลดได้จากโครงการในประเทศกําลังพัฒนา ผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิต มาคํานวณเสมือนว่าได้ดําเนินการลดในประเทศของตนเองเพื่อบรรลุ NDC เนื่องจากมีความเสี่ยงว่าอาจมีการนับซ้ำ
.
นาย Wendel Trio, Director (เครือข่าย Climate Action Network) กล่าวว่าการทํางานร่วมกับประเทศต่างๆ เพื่อผลักดันการเจรจา โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกําลังพัฒนาเป็นสิ่งสําคัญในการรับมือปัญหาโลกร้อน ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการดําเนินชีวิตของคนเรามากขึ้น และ ประเทศกําลังพัฒนาควรได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน เทคโนโลยี และความสามารถต่างๆ จากประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อให้สามารถปรับตัวได้
.
ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี พ.ศ.2537 และได้มีการจัดทำแผนที่นําทางการลดก๊าซเรือนกระจก ของประเทศปี พ.ศ. 2564 – 2573 สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของแผนที่นำทางฯแก่ทุกภาคส่วน และมีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกโดยเป้าหมายขั้นต่ำที่ร้อยละ 20 และเป้าหมายขั้นสูงที่ร้อยละ 25 ภายในปีพ.ศ. 2573 ตามมติเห็นชอบของประเทศไทยต่อ Intended Nationally Determined Contribution (INDC) ดังนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนควรศึกษา ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อน รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่มาก และดําเนินการแบบองค์รวมเพื่อนําไปสู่การดําเนินงานในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบในระดับท้องถิ่นและในระดับโลก
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์/ คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป