การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้กลายเป็นหัวข้อที่มีความสําคัญเชิงกลยุทธ์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนที่สําคัญในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจและสังคม “สีเขียวและดิจิทัล” ตามนโยบายของอียู ซึ่งในปี 2563 อียูได้มีการเพิ่มงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ ขึ้น 3 เท่าเป็น 1,500 ล้านยูโร (จาก 500 ล้านยูโร เมื่อปี 2560) ซึ่งเป็นการย้ำให้เห็นว่าอียูให้ความสําคัญด้านการพัฒนา AI เพิ่มมากขึ้น และสําหรับพัฒนาการที่น่าจับตาในปีนี้ ได้แก่ ร่างกฎหมายด้าน AI ของอียู และแผนการดําเนินการร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอียู (Coordinated plan) ซึ่งอียูมีกําหนดที่จะมีการเผยแพร่เอกสารทั้ง 2 ฉบับในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือนเท่านั้น
.
เมื่อปีต้นปีที่แล้ว อียูได้มีการเผยแพร่เอกสารสําคัญด้านการพัฒนา AI 2 ฉบับเช่นกัน ได้แก่ 1) สมุดปกขาวเรื่อง “Artificial Intelligence – A European Approach to Excellence and Trust” โดยระบุแผนการออกกฎหมายที่จะครอบคลุมมิติเทคโนโลยี จริยธรรม กฎหมาย สังคมและเศรษฐกิจของ AI และ 2) เอกสาร “Ethics Guidelines for Trustworthy AI” เพื่อกําหนดแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่มีความก้าวหน้า มีจริยธรรม และปลอดภัย โดยมุ่งสร้าง “AI ที่เชื่อถือได้”
.
โอกาสของการพัฒนาเทคโนโลยี AI
.
เทคโนโลยี AI มีศักยภาพในการช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นปัจจัยสําคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอียู เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมสามารถนําเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้รวดเร็วและมีความแม่นยําสูงและใช้ทรัพยากรน้อย ตั้งแต่การรักษาโรคไปตลอดจนการลดผลกระทบจากภาคการเกษตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนําเทคโนโลยี AI มาใช้ในการเชื่อมต่อและพัฒนายานพาหนะไร้คนขับ เทคโนโลยีการจดจําใบหน้า และการวินิจฉัยโรคโดยใช้ AI ช่วยเพื่อความแม่นยํา ซึ่งนับเป็นตัวอย่างบางส่วนของการนําเทคโนโลยี AI มาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งทีมงานฯ คาดการณ์ว่าการใช้เทคโนโลยี AI ในชีวิตประจําวันจะกลายเป็น “new normal” แน่นอน
.
ปัจจุบันมีการใช้ AI ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม การแพทย์และสุขภาพ เพื่อช่วยรับมือกับวิกฤติโควิดและทุ่นแรงบุคคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลน ซึ่งในสมุดปกขาวอียูได้เสนอให้พิจารณาจัดอุตสาหกรรมการแพทย์ฯ ให้อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี AI ที่มีความเสี่ยงสูง (high-risk AI applications) เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวและมีผลกระทบสูง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการขนส่ง อุตสาหกรรมพลังงาน และกิจการภาครัฐที่สําคัญ ซึ่งหมายความว่าการประยุกต์ใช้ AI ในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของอียู อาทิ การเก็บรักษาข้อมูล การให้ข้อมูลแก่สาธารณะและการควบคุมดูแลโดยมนุษย์ เป็นต้น
.
การนําเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ในอียู
.
ส่วนในบริบทของของวิกฤตโควิด-19 นาง Lucilla Sioli ผู้อํานวยการด้าน AI และอุตสาหกรรมดิจิทัล กระทรวงโทรคมนาคมของอียู ได้กล่าวถึงบทบาทสําคัญของ AI ในการช่วยจัดการกับวิกฤตโควิด-19 ในอียู ได้แก่ 1) ช่วยเร่งการพัฒนาวัคซีนและยาป้องกันโควิด-19 2) ช่วยระบุวิธีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และ 3) ช่วยแพทย์วินิจฉัยภาพเอ็กซ์เรย์ปอดของผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งนาง Lucilla เน้นย้ำว่า AI นั้น เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูง มีโอกาสในการพัฒนาและนํามาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อีกมาก
.
นาง Loubna Bouarfa ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท Okra Technologies กล่าวว่า “ความรวดเร็วและข้อมูล คือ สกุลเงินใหม่ของยุคปัจจุบัน” โดยชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของการนําเทคโนโลยี AI มาใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อเร่งกระบวนการต่างๆ อาทิ ความสําเร็จในการย่นระยะการคิดค้น ผลิต และแจกจ่ายวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จากปกติที่อาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปีในการผลิตวัคซีนสู่ตลาด เหลือเพียง 10 เดือนเท่านั้น
.
อียูลงทุนในการพัฒนาเครื่องมือ AI เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยเคสโควิด-19 ภายในหนึ่งนาที โดย อัลกอริทึมจะใช้ภาพที่รวบรวมโดยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography: CT) เพื่อ ตรวจหาเคสที่สงสัยว่าจะเป็นการติดเชื้อโควิด-19 และแจ้งเตือนแพทย์ที่ทําการเอ็กซ์เรย์ทันที ซึ่งเป็นการลดการทํางานของบุคคลากรทางการแพทย์และช่วยให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น และยังเป็นการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์อีกด้วย
.
เมื่อปลายปี 2563 อียูได้สั่งซื้อหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคจํานวน 200 ตัว เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ในอียู ซึ่งหุ่นยนต์นี้ใช้ไฟยูวีในการฆ่าเชื้อโรคภายในห้องผู้ป่วย โดยผู้บังคับหุ่นยนต์จะสั่งงานจากภายนอกห้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อไวรัสและแสงยูวี โดยกระบวนการฆ่าเชื้อโรคภายในห้องใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาและลดความเสี่ยงของบุคคลกรทางการแพทย์ รวมถึงเป็นการป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิดในโรงพยาบาลทั้งนี้ การใช้ไฟยูวีแทนสารเคมีในการฆ่าเชื้อโรคนั้นเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า เนื่องจากบุคคลากรไม่จําเป็นต้องสัมผัสขนย้าย หรือ จัดเก็บสารเคมีอันตรายที่มีฤทธิ์ กัดกร่อน ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ก.พ. นี้ อียูได้นําส่งหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรครอบแรกจํานวน 31 ตัวให้แก่โรงพยาบาลในสโลวาเนียเป็นแห่งแรก ตามด้วย เบลเยียม เดนมาร์ก เยอรมนี เอสโตเนีย ไอร์แลนด์ กรีซ สเปน โครเอเชีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์
.
อีกเทคโนโลยีที่มองข้ามไม่ได้ คือ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งภายใต้โครงการ Exscalate4Cov ของอียู ได้ ทําการทดลองซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีความซับซ้อนที่สุด เพื่อสํารวจวิธีการใหม่ ๆ ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด19 ซึ่งเบื้องต้นพบว่า ยารักษาโรคกระดูกพรุน (raloxifene) เป็นยาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดและอาจ สามารถนํามาใช้เพื่อลดอาการโควิด-19 สําหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยได้ ซึ่งเป้าหมายปัจจุบันของโครงการนี้ มุ่งเสริมสร้าง “ห้องสมุดโมเลกุล” และค้นหาโมเลกุลใหม่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยารักษาเชื้อไวรัสโควิด-19
.
ความท้าทายของการพัฒนาเทคโนโลยี AI
.
ในส่วนของเทคโนโลยี AI นั้นมีข้อจํากัดเช่นกัน อาทิ การทํางานของ AI นั้นขาดความโปร่งใส และในบางกรณีก็ไม่สามารถอธิบายถึงกระบวนการทํางานของ AI ได้ ซึ่งอียูมองว่าประเด็นนี้อาจเป็นช่องว่างให้มีการละเมิดสิทธิในการใช้ข้อมูลได้ อีกทั้งยังมีประเด็นถกเถียงเรื่องความรับผิดชอบ (Liabilities) เนื่องจาก AI นั้น มิใช่บุคคลหรือบริษัท เพราะฉะนั้นในกรณีเกิดความผิดพลาด ความรับผิดชอบควรตกอยู่กับบริษัทผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการ AI ดังนั้นอียูจึงต้องการเสนอร่างกฎหมายที่รักษาสมดุลระหว่างการพัฒนา AI และการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชนอียูซึ่งเป็นความท้าทายของการออกร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้
.
ในส่วนของการแข่งขันระดับโลกระหว่างสหรัฐฯ จีน และยุโรปในการเร่งพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่มีความฉลาดเพิ่มมากขึ้นนั้น อียูมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นําในการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา AI ที่ทันสมัยและใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ AI อย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันอียูยังต้องการผลักดันค่านิยมของอียูที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (human-centric approach) มีจริยธรรม ปลอดภัย และที่สําคัญต้องเคารพสิทธิของประชาชนด้วย
.
ทั้งนี้ ประเด็นต่าง ๆ ที่ภาคประชาสังคมและประชาชนอียูบางส่วนยังมีข้อกังวล ได้แก่ มาตรฐานและความปลอดภัยของ AI รวมถึงประเด็นด้านจริยธรรมและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการจดจําใบหน้าที่มีกระแสต่อต้านมากมาย ดังนั้น อียูจึงเน้นแนวทางในการพัฒนา AI ควบคู่ไปกับการเสนอกรอบกฎหมายที่เหมาะสม เพื่อควบคุม AI ให้อยู่ในกฎเกณฑ์และไม่ละเมิดค่านิยมของอียู
.
ขณะนี้ ประเทศสมาชิกและคณะกรรมาธิการยุโรปกําลังร่วมกันพัฒนากรอบกฎหมายสําหรับกลุ่มเทคโนโลยี AI ที่มีความเสี่ยงสูง และแผนการดําเนินการร่วมกันเพื่อกําหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของแต่ประเทศสมาชิกและอียูให้สอดคล้องกัน โดยร่างกรอบกฎหมายฯ นี้ สร้างขึ้นจากความแข็งแกร่งของอียู ในด้านต่าง ๆ อาทิ กฎหมาย GDPR งานวิจัยที่เป็นเลิศ ความเป็นผู้นําในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ และ หุ่นยนต์กรอบกฎหมายที่มั่นคง และความหลากหลายทางวัฒนธรรม อีกทั้งกฎหมายนี้ จะเป็นการสร้าง level playing field ด้าน AI ในอียูอีกด้วย
.
เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วยิ่งขึ้นของโลกดิจิทัล โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยที่มีความสําคัญ และเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันที่สําคัญในมิติต่างๆ ตั้งแต่ประเด็นสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ประเด็นสุขภาพและการแพทย์ ไปจนถึงประเด็นการค้าและพาณิชย์ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรศึกษาการพัฒนาและการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพต่าง ๆ เพื่อการกำหนดทิศทางและพัฒนาความเป็นผู้นำในมิติที่ประเทศไทยต้องการผลักดันในอนาคตต่อไป
.
สอท. ณ กรุงบรัสเซลส์ / คณะผู้แทนไทยประจําสหภาพยุโรป