โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ / คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหภาพยุโรป
.
ส้มตำใส่แครอท แกงเขียวหวานใส่บรอกโคลี ผัดกะเพราใส่ใบโหระพา หลายครั้งที่เมนูอาหารไทยในต่างประเทศที่มีส่วนผสมที่แฟนพันธุ์แท้อาหารไทย จะรู้สึกสะดุดใจกับส่วนประกอบแปลก ๆ ที่ไม่เหมือนกับอาหารไทยดั้งเดิมที่เคยได้ลิ้มลองมา สาเหตุที่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในต่างประเทศต้องจำใจดัดแปลงสูตรอาหารเหล่านี้ เป็นเพราะวัตถุดิบในการประกอบอาหารไทยนั้นหายาก ทั้งยังมีราคาสูง คุณพรทิพย์ ศรีวิเศษ (คุณทิพย์) ชาวไทยในเบลเยียม ผู้ซึ่งประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน ได้เห็นถึงโอกาสจากปัญหาที่เกิดขึ้น และได้ริเริ่มการปลูกพืชผักไทยเพื่อรับประทานเองในโรงเรือนปลูกสตรอว์เบอร์รี่ของครอบครัวสามี ก่อนจะขยายพื้นที่การเพาะปลูกและดัดแปลงมาเป็นธุรกิจสวนผักไทย “ทิพย์สวนผัก” ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่ได้รับความสนใจทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติในเบลเยียม รวมถึงลูกค้าจากประเทศใกล้เคียงในยุโรปอีกด้วย
.
ธุรกิจไทยในเบลเยียมที่นำผักไทย ‘โกอินเตอร์’ นั้น เริ่มมาจากการเล็งเห็นโอกาสจากปัญหาที่คนรักอาหารไทยประสบเมื่อไปอาศัยอยู่ต่างแดน โดยนำทุนเดิมที่มีอยู่คือโรงเรือนปลูกสตรอว์เบอร์รีของครอบครัวมาดัดแปลงมาเป็นสวนผักไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มในการต่อยอดจาก pain point ของผู้บริโภคที่มีอุปสงค์อยู่ แต่ไม่มีอุปทาน
.
ภายใน “ทิพย์สวนผัก” มีการปลูกพืชผักไทยหลากหลายชนิด เช่น กะเพรา โหระพา แมงลัก ผักชี ผักชีลาว ขึ้นฉ่าย มะเขือ พริก แตงกวา คะน้า กวางตุ้ง ฟักทอง มะระ ฯลฯ แต่ความท้าทายหลักของการปลูกพืชผักไทยในเบลเยียม คือ สภาพอากาศ แสงแดด และอุณหภูมิในการทําการเกษตรที่แตกต่างจากเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง โดยที่เบลเยียมนั้น คุณทิพย์เล่าว่ามีฤดูหนาวที่ยาวนานถึง 5 เดือน ทำให้ไม่สามารถทําการเพาะปลูกได้ เนื่องจากแสงแดดไม่เพียงพอ และสภาพอากาศที่หนาวเย็นเกินไป ทำให้ต้องใช้เครื่องทําความร้อนเพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนปลูกผักให้มีความเหมาะสมกับพันธุ์พืชไทย และใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมการรดน้ำและใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งการที่ “ทิพย์สวนผัก” ได้นําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ที่สวนผักนั้น สามารถช่วยลดแรงงานคน และประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างคนงานได้ด้วย
.
นอกจากนี้ คุณทิพย์ได้ทำการตลาดและประชาสัมพันธ์สวนผักของตนผ่านสื่อโซเชียลที่ใช้เป็นประจำอย่าง Facebook ในชื่อ ทิพย์สวนผัก ไทย อิสาร อินเตอร์ ที่มียอด Like กว่า 12,000 ราย ทำให้สามารถสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และช่วยสร้างชื่อเสียงให้สวนผักไทยแห่งนี้เป็นอย่างมาก ทำให้ในตอนนี้ “ทิพย์สวนผัก” ได้กลายเป็นแหล่งสร้างคอนเทนต์สำหรับเหล่า YouTuber จากหลายประเทศทั่วยุโรปที่เดินทางมาถ่ายทำคลิปวิดีโอรีวิว โดยบางคลิปมียอดผู้เข้าชมมากกว่า 800,000 ครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นแบบอย่างของธุรกิจที่มีการปรับตัวให้ทันยุคดิจิทัลและมีชื่อเสียงจากการใช้ประโยชน์ของแพลตฟอร์มออนไลน์
.
ในปัจจุบัน มีชาวไทยในต่างประเทศหลายรายเริ่มหันมาทำสวนผักกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สวนผักไทยบนพื้นที่ 31 ไร่ในเยอรมนี สวนมะกรูด-มะนาวในเบลเยียม หรือสวนผักไทยในสวีเดน แต่ตลาดผักไทยในยุโรปยังคงต้องพึ่งพาการนําเข้าจากประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากกำลังการผลิตผักไทยในยุโรปไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายผักไทยที่มีอยู่จำกัด ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องซื้อจากร้านขายสินค้าเอเชียเท่านั้น ถือเป็นโอกาสสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยที่ต้องการก้าวข้ามขีดจำกัดในการผลิต จำหน่ายวัตถุดิบ และเครื่องปรุงไทย โดยเบนเข็มหันมาสนใจตลาดต่างประเทศอย่างตลาดยุโรปที่มีความต้องการผลผลิตจากไทยจำนวนมาก เนื่องจากมีร้านอาหารไทยที่ตั้งอยู่หลายหมื่นร้าน มีชาวไทยที่อาศัยอยู่จำนวนมาก ชาวต่างชาติที่ชื่นชอบการทำอาหารทานเอง รวมทั้งชาวต่างชาติที่อยากลิ้มลองรสชาติของผักไทยแท้ ๆ กลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ต่างต้องการผักไทยที่มีคุณภาพ หาซื้อง่าย และมีราคาสมเหตุสมผล อีกทั้งสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกต่างหันมาให้ความสนใจกับคุณภาพของสินค้าและอาหารมากขึ้น ถึงเวลาแล้วผักไทยคุณภาพดีจะกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกสุขภาพและได้รับความนิยมในตลาดสากล
.
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกผักและผลไม้สดมายังตลาดยุโรป สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://thaieurope.net/2020/09/22/export-veg-and-fruits-to-the-eu หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรปที่ agrithai@agrithai.be
.
พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสการประกอบธุรกิจกับต่างประเทศ ที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกคัดสรรมาเพื่อท่าน ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com และท่านสามารถสอบถามหรือเสนอแนะเพิ่มเติมได้ที่อีเมล info@globthailand.com