สหภาพยุโรป หรือ อียู พิจารณาเสนอมาตรการกำหนดสีถุงขยะรีไซเคิลที่สอดคล้องกันในทุกประเทศสมาชิก ภายใต้ร่างกฎหมาย EU Packaging Waste Directive ว่าด้วยมาตรการจัดการขยะจากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายในการรีไซเคิลขวดพลาสติก 90% ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีกำหนดเสนอร่างกฎหมายฯ ในเดือนมิถุนายนนี้
.
ปัจจุบันประเทศสมาชิกอียูมีระบบการแยกขยะที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากอียูกำหนดให้เทศบาลและผู้ผลิตร่วมกันรับผิดชอบในการจัดการขยะรีไซเคิล โดยประเทศสมาชิกและหน่วยงานท้องถิ่นมีหน้าที่เลือกระบบการแยกขยะและวิธีการดำเนินงานเอง อาทิ ในเบลเยียมมีการกำหนดให้ใช้ถุงขยะสีฟ้าสำหรับขยะพลาสติก/โลหะ และถุงสีเหลืองสำหรับขยะกระดาษ ขณะที่เยอรมนีนั้นมีมาตรการตรงกันข้ามกับเบลเยียม โดยเยอรมนีกำหนดให้ใช้ถุงขยะสีเหลืองสำหรับขยะพลาสติก/โลหะ และถุงขยะสีฟ้าสำหรับขยะกระดาษ ซึ่งมาตรการที่ต่างกันในแต่ละประเทศทำให้ผู้บริโภคสับสนและมีการทิ้งขยะผิดประเภท ทำให้อียูเสียโอกาสในการรีไซเคิลขยะเหล่านี้ ดังนั้น หากทุกประเทศสมาชิกมีการใช้ระบบกำหนดสีถุงขยะเดียวกัน น่าจะสามารถช่วยเพิ่มอัตรารีไซเคิลขยะในอียู และส่งเสริมแผนเศรษฐกิจหมุนเวียนในอียูในระยะยาว
.
อย่างไรก็ดี นาย Joachim Quoden ผู้บริหาร สมาคม EXPRA (Extended Producer Responsibility Alliance) มองว่าปัญหาเรื่องสีถุงขยะที่ต่างกันไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับการมีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและการมีถังขยะสำหรับขยะรีไซเคิล เนื่องจากบางประเทศในอียูยังไม่มีแนวทางปฏิบัติพื้นฐานที่จำเป็นเหล่านี้ โดยประเด็นสำคัญน่าจะเป็นเรื่องการปรับปรุงข้อกำหนดด้านความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility (EPR)) ให้มีความชัดเจน เพื่อให้ผู้ผลิตและหน่วยงานรัฐทราบว่าใครควรเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและจัดการเพื่อแยกขยะรีไซเคิล
.
โดยหลักการของข้อกำหนด EPR คือ ผู้ผลิตควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อสินค้าและบรรจุภัณฑ์เมื่อสินค้าสิ้นสุดอายุการใช้งาน ซึ่งนาย Joachim กล่าวว่า อียูมีแนวโน้มที่จะพิจารณาเสนอมาตรการ EPR เพิ่มเติม อาทิ ขยายข้อกำหนด EPR ให้ครอบคลุมบรรจุภัณฑ์ทุกชนิด (เดิมครอบคลุมเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์) ภายในปี ค.ศ. 2024 และกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะสำหรับผู้ผลิตที่สอดคล้องกันในระดับอียู ซึ่งอาจมีการเสนอให้มีอัตราลดหย่อนสำหรับสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่มีการออกแบบโดยคำนึงถึงความสะดวกในการนำไปรีไซเคิล ตามมาตรการอียูด้าน Eco-design ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตออกแบบสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
.
ทั้งนี้ ยังมีอีกหนึ่งเครื่องมือที่สามารถช่วยเพิ่มอัตรารีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำมาใช้ได้รวดเร็วกว่า EPR ได้แก่ ระบบมัดจำบรรจุภัณฑ์ (Deposit Return Scheme (DRS)) ซึ่งใช้หลักการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์มาคืน โดยการเก็บค่ามัดจำสำหรับขวดพลาสติก ขวดแก้ว และกระป๋องอลูมิเนียมล่วงหน้า (จ่ายค่ามัดจำพร้อมสินค้า) และคืนเงินค่ามัดจำเมื่อผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์มาคืนที่ร้านค้า/ตู้บริการอัตโนมัติเท่านั้น ซึ่งระบบมัดจำบรรจุภัณฑ์สามารถเรียกคืนขยะรีไซเคิลได้ในปริมาณมาก โดยเฉพาะขยะพลาสติก PET ที่สามารถนำไปใช้ใหม่ได้ อันเป็นการส่งเสริมแนวทางการใช้วัตถุดิบทุติยภูมิ (secondary material) และเป็นการปิดห่วงวงจรการผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อมุ่งสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในอียู
.
ทั้งนี้ ร่างกฎหมาย EU Packaging Waste Directive จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มอัตรารีไซเคิลและส่งเสริมการนำวัตถุดิบทุติยภูมิกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งสภายุโรปเองก็มีแนวโน้มที่จะมีการเสนอเป้าหมายในการใช้วัตถุดิบทุติยภูมิในการผลิตสินค้าในปีนี้ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ ภายใต้กรอบกฎหมาย Sustainable Products Policy เพื่อเป็นการเพิ่มตลาดสำหรับวัตถุดิบรีไซเคิล มุ่งพัฒนาวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ ตามแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของอียู
.
ไม่เพียงแต่อียูเท่านั้นที่ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ประเทศไทยนั้นได้มีการพยายามผลักดันประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการที่รัฐบาลได้ออกมาประกาศให้ BCG Economy ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมกันนั้นเป็นวาระแห่งชาติ ทำให้ต่อไปในอนาคตทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนของไทยก็จะต้องมีการปรับตัวให้เอื้อประโยชน์ต่อธรรมชาติมากขึ้น ถึงแม้ว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการ แต่ท้ายที่สุดแล้วในระยะยาวนั้นจะเป็นผลดีต่อประชากรโลกในอนาคต นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งสินค้าไปอียูควรศึกษากฎระเบียบท้องถิ่น และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ เช่น มาตรการ Eco-design เพื่อรู้เท่าทัน ปรับปรุงมาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรการและปัจจัยที่อาจกระทบกับการส่งออกอีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์
.
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://ec.europa.eu/research/infocentre/article_en.cfm?artid=50229