อุตสาหกรรมการบินสำคัญอย่างไรต่อเศรษฐกิจอียู?
อุตสาหกรรมการบินมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) ทั้งในด้านของภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งสร้างรายได้กว่า 300 พันล้านยูโร หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.1 ของ GDP ของอียู และยังเป็นแหล่งการจ้างงานกว่า 5 ล้านตำแหน่ง โดยบริษัท Airbus เป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งผลิตทั้งเครื่องบินพาณิชย์ เครื่องบินทหาร เฮลิคอปเตอร์และระบบดาวเทียม และจัดตั้งบริษัทย่อยและโรงงาน 180 แห่งทั้งในอียูและต่างประเทศ ซึ่งเมื่อปี ค.ศ. 2019 บริษัท Airbus มียอดขายเครื่องบินพาณิชย์รวมมูลค่าสูงที่สุดในโลก สามารถครองแชมป์ส่วนแบ่งตลาดการผลิตเครื่องบินพาณิชย์จากคู่แข่งตลอดกาลอย่างบริษัท Boeing ของสหรัฐฯ
ในปี ค.ศ. 2021 อียูผลิตเครื่องบินพาณิชย์กว่าร้อยละ 65 ของเครื่องบินใหม่ทั้งหมดในตลาดโลกและมีบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีศักยภาพด้านนวัตกรรมการบินที่ทันสมัย จึงทำให้อียูมีบทบาทสำคัญและภาระหน้าที่ในการเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนอุตสาหกรรมการบินสู่ความยั่งยืน มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรมการบิน ตลอดจนลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ มลพิษทางอากาศและมลพิษทางเสียง
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมีอะไรบ้าง?
ผลกระทบหลักจากอุตสาหกรรมการบินต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มลพิษทางอากาศและมลพิษทางเสียง ซึ่งอุตสาหกรรมการบินเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงร้อยละ 2.5 ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดของโลก และเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่าร้อยละ 14 ของปริมาณการปล่อยก๊าซของภาคขนส่งของอียู โดยปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นหมายความว่าประชากรอียูจำนวนมากที่พักอาศัยบริเวณใกล้สนามบินต้องเผชิญกับระดับมลพิษทางเสียงสูงและปริมาณมลพิษในอากาศที่เพิ่มขึ้น
แม้ว่าในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการการปิดประเทศ ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินจากสนามบินในอียูและเขตเศรษฐกิจ EFTA ลดลงจาก 9.3 ล้านเที่ยวบินในปี ค.ศ. 2019 เหลือ 4.12 ล้านเที่ยวบินในปี ค.ศ. 2020 และ 5.07 ล้านเที่ยวบินในปี ค.ศ. 2021 แต่แนวโน้มในระยะยาว คาดว่าปริมาณเที่ยวบินจะปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 12.2 ล้านเที่ยวบินภายในปี ค.ศ. 2050 หากไม่มีการบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมการบิน จะส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเที่ยวบินสูงขึ้นถึง 188 ล้านตันภายในปี ค.ศ. 2050 อุตสาหกรรมการบินจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงแรงกดดันที่ต้องใช้มาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มงวดเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนสรรหามาตรการอื่น ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
มาตรการที่ผ่านมาของอียูเพื่อลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมการบิน
อุตสาหกรรมการบินเป็นสาขาที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยและค่าใช้จ่ายที่สูง รวมทั้งอายุการใช้งานระยะยาวของเครื่องบิน ดังนั้น การที่จะเลิกใช้เครื่องบินเชื้อเพลิงฟอสซิลและเปลี่ยนสู่เครื่องบินไฟฟ้าหรือเครื่องบินไฮโดรเจน จะต้องผ่านการประเมินด้านศักยภาพและความปลอดภัยของเครื่องบินก่อนนำมาใช้งานจริงจึงเป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมการบินที่ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้งานได้และใช้มาตรการอื่นเสริม เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ของอียู ขณะนี้อียูกำลังทำงานร่วมกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) เพื่อพัฒนามาตรการทางการตลาด (Global Market-Based Measure: GMBM) ด้วย
โดยมาตรการลดก๊าซคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรมการบินของอียูสามารถแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่
1) การพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีสีเขียว มุ่งพัฒนาเครื่องบินที่สะอาดและไม่สร้างมลพิษทางเสียงเพื่อลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ โครงสร้างพื้นฐาน และระบบบริการที่ทันสมัย ซึ่งโครงการวิจัยร่วม “Clean Sky” ของอียูได้วางเป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเครื่องบินปลอดมลพิษ ให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงร้อยละ 50 ต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตร ลดการปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ลงร้อยละ 80 และมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีลดมลพิษทางเสียงที่มีประสิทธิภาพอย่างน้อย 10 EPNdB ต่อเที่ยวบินภายในปี ค.ศ. 2020
2) การปรับปรุงระบบการจัดการจราจรทางอากาศ กฎหมายตลาดการบินเดียวสหภาพยุโรป (Single European Sky: SES) ได้ปฏิรูประบบการจัดการจราจรทางอากาศของยุโรปให้ทันสมัยขึ้น โดยมีโครงการวิจัย SESAR เป็นความร่วมมือหลักทางเทคโนโลยีของ SES ซึ่งเป้าหมายของโครงการฯ คือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 10 จากปริมาณเดิมต่อเที่ยวบิน ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบการจัดการจราจรทางอากาศ
3) การใช้มาตรการทางการตลาด อียูได้เริ่มใช้ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอน (EU Emission Trading System: EU ETS) สำหรับอุตสาหกรรมการบินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2012 โดยบังคับใช้กับเที่ยวบินภายในอียู และเที่ยวบินที่มีจุดหมายปลายทางไปยังสวิตเซอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร ซึ่งหมายถึงต้นทุนการบินที่สูงขึ้น สายการบินดังกล่าวต้องซื้อสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอน หากประสงค์ปล่อยก๊าซคาร์บอนเกินโควต้าของใบอนุญาตการปล่อยก๊าซคาร์บอนแบบให้เปล่า (free allowances) ที่ได้รับ
หากอียูสามารถพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ภายในปี ค.ศ. 2035 ตามที่วางแผนไว้ ประกอบกับการนำแหล่งพลังงานและเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำหรือเชื้อเพลิงปลอดคาร์บอนมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว อาทิ ไฮโดรเจนสะอาด หรือ เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการบินได้ในปริมาณที่มาก และคาดว่าจะเพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้กลายเป็นศูนย์ในปีค.ศ. 2050
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ / คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์