ตามที่อียูได้ประกาศแผน “ทศวรรษดิจิทัลของยุโรป” พร้อมเผยแพร่เป้าหมายดิจิทัลด้านต่าง ๆ สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลสำหรับปี ค.ศ. 2030 เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา โดยหนึ่งในเป้าหมายที่แสดงให้เห็นความทะเยอทะยานในการพัฒนาด้านดิจิทัลของอียูท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์จากภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยและยั่งยืนที่สุด (cutting-edge and sustainable) ให้ได้ 20% ของมูลค่าการผลิตทั่วโลก เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากต่างประเทศ
.
สาเหตุที่อียูต้องเร่งพัฒนาการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัย คือ เซมิคอนดักเตอร์ หรือ ไมโครชิป เป็นชิ้นส่วนหลักที่ใช้ในการประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ตั้งแต่เครื่องมือสื่อสาร คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ ตลอดจนการผลิตดาวเทียม ซึ่งปัจจุบันอียูมีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์รุ่นเก่าจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว แต่ยังขาดการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัย ด้วยเหตุนี้ เซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยจึงเป็นปัจจัยสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ ของอียูที่จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอียูได้ รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้อียูขึ้นเป็นผู้นำและควบคุมทิศทางของโลกเทคโนโลยีในอนาคตอีกด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เพิ่งประสบปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทำให้ต้องชะลอการผลิต เนื่องจากการประกอบรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีระบบช่วยขับขี่ (assisted driving) ระบบไฟฟ้า และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ จำเป็นต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์ดังกล่าว แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะถูกแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็เผยให้เห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่อียูต้องพึ่งพาสหรัฐฯ และเอเชียในด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ
.
ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังคงรักษาตำแหน่งประเทศผู้นำในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งนับเป็น 47% ของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของโลก ตามด้วยเกาหลีใต้ 19% ญี่ปุ่น 10% ยุโรป 10% ไต้หวัน 6% และจีน 5% จึงทำให้สาธารณชนบางกลุ่มตั้งคำถามว่า อียูมีความต้องการทางตลาดสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงหรือไม่ และอียูมีความพร้อมที่จะทุ่มเวลาและเงินลงทุนหลายพันล้านยูโรเพื่อปฏิรูปห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลกหรือไม่ เนื่องจากอียูยังตามหลังประเทศอื่น ๆ ในเรื่องของเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดอยู่มาก อาทิ เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing และบริษัท Samsung Electronics ซึ่งเป็นผู้นำของตลาดการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ความเร็วสูงและมีประสิทธิภาพที่สุดในตลาด อียูยังขาดศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้
.
โดยนาย Thierry Breton กรรมาธิการยุโรปด้านตลาดร่วมได้ให้สัมภาษณ์โดยย้ำจุดยืนของอียูว่า “เราทราบอยู่แล้วว่าเราจะมีความต้องการทางตลาดสำหรับไมโครชิปมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสำหรับการผลิตสินค้า Internet of Things (IoT) รวมถึงคลาวด์ และเอดจ์คอมพิวติ้งอีกด้วย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่” ดังนั้น เป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดและยั่งยืนให้ได้ 20% ของมูลค่าการผลิตทั่วโลกจึงเป็นเรื่องที่อียูควรจะผลักดัน
.
สุดท้ายนี้ อียูยังไม่ได้ให้รายละเอียดที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายดิจิทัลต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในเข็มทิศดิจิทัล (รวมถึงเป้าหมายนี้) แต่สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานว่า อียูได้มีการหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงงานผลิตแห่งใหม่ หรือ ปรับเปลี่ยนโรงงานผลิตที่มีอยู่แล้วให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในยุโรปอีกด้วย
.
สำหรับประเทศไทยนั้นในปีที่ผ่านมา การส่งออกคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ซึ่งรวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุด ทำให้ถ้าหากอียูจะผลักดันการผลิตและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์นั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผู้เล่นจำนวนมากขึ้น จะทำให้มีการแข่งขันด้านราคาเพิ่มขึ้นตามมา ราคาเซมิคอนดักเตอร์อาจลดลง ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อผู้บริโภคทั่วโลก แต่แน่นอนว่าย่อมสร้างความท้าทายต่อผู้ผลิตในอนาคตอย่างแน่นอน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์
.
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://europetouch.mfa.go.th/th/content/%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%81?cate=5d6abf7c15e39c3f30001465