สรุปผลวิเคราะห์สำคัญในรายงาน Technology and Innovation Report 2021 นั้น เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 UNCTAD ได้เผยแพร่ Trade and Development Reports ฉบับล่าสุด ภายใต้หัวข้อ “Out of the frying pan…into the fire?”
.
1. ทั่วไป
1.1 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 4.7 ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกันยายน 2563 เนื่องจากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของสหรัฐฯ ที่มีพัฒนาการที่ดีในการจัดสรรวัคซีน COVID-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี มูลค่าเศรษฐกิจโลกยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ กว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก เนื่องจากทางเลือกนโยบายทางการคลังที่มีอยู่อย่างจำกัด ดุลการชำระเงินที่จำกัด และความช่วยเหลือจากนานาประเทศที่ไม่เพียงพอ
.
1.2 รายงานฯ ระบุว่ายังไม่มีความร่วมมือระหว่างประเทศมากอย่างเพียงพอโดยเปรียบเทียบอัตราการผัดผ่อนภาระหนี้สินที่มีมูลค่าเพียง 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ถึงเดือนมิถุนายน 2564 สำหรับ 46 ประเทศที่อยู่ภายใต้ Debt Service Suspension Initiative (DSSI) ของกลุ่ม G20 ซึ่งน้อยกว่าการผัดผ่อนภาระหนี้สิน 80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับ 73 ประเทศภายใต้ DSSI เมื่อปี 2562 อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วยังปฏิเสธที่จะยกเว้นการเก็บภาษีวัคซีนภายใต้ข้อตกลง TRIPS ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับผลกำไรรายประเทศมากกว่าสุขภาพของประชากรโลก
.
1.3 ผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดจากการระบาดของ COVID-19 คือรายได้ที่ไม่เท่าเทียม โดยคาดว่าจะผู้ที่จะอยู่ใน extreme poverty จะเพิ่มขึ้นเป็น 124 ล้านคนทั่วโลกภายในสิ้นปี 2564 (ซึ่งไม่รวมประชากรอีก 228 ล้านคนที่มีค่าครองชีพน้อยกว่า 3.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน) ในขณะที่ผู้ที่ร่ำรวยสูงสุดร้อยละ 1 กลับร่ำรวยมากขึ้นไปอีก
.
1.4 ภูมิภาคต่าง ๆ ยังใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่ยั่งยืน ดังนี้
.
– การเน้นการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและยุโรปตะวันตกซึ่งอาจทำให้มีแนวโน้มการได้ดุลทางการค้าที่สูงเกินไปและส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางการค้า นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวยังเป็นการหลีกเลี่ยงการจัดทำนโยบายทางการเงินที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
.
– นโยบายการคลังที่หละหลวมและเน้นการบริโภคของสหรัฐฯ อาจมีผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน หากไม่ดำเนินนโยบายดังกล่าวควบคู่ไปกับการใช้จ่ายของรัฐบาลหรือการลงทุนจากภาครัฐโดยเฉพาะในสภาพเศรษฐกิจที่อาจมีบริษัทล้มละลายเป็นจำนวนมาก หากนโยบายการคลังเน้นการโอนเงินสดแต่ไม่มีการใช้จ่ายสำหรับการบริโภคและการลงทุนโดยตรง
.
– การพึ่งพากระแสเงินทุนไหลเข้าและการส่งออกสินค้าของภูมิภาคแอฟริกาและลาตินอเมริกา ส่งผลให้ทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจอ่อนตัวลง นอกจากนี้ ยังมีภาระหนี้สินที่สูงและขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดที่สำคัญสำหรับการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศในช่วงนี้มีค่อนข้างจำกัด
.
2. ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย
.
2.1 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคฯ ต่ำกว่าที่คาดการณ์เมื่อกลางปี 2563 เนื่องจากประเทศต่าง ๆ มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคฯ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ในภาพรวม UNCTAD ได้ปรับการคาดการณ์สำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคฯ ให้สูงขึ้นในปี 2564 เนื่องจากน่าจะมีความพยายามที่จะฟื้นตัวมากขึ้นในปีนี้ รวมทั้งน่าจะมีการบริโภคและการส่งออกเพิ่มขึ้นอีก โดยทั้งสองปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักสำหรับการฟื้นตัวในเศรษฐกิจของภูมิภาคในปีนี้
.
2.2 ในส่วนของไทย กระแสเงินลงทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่เห็นได้ว่ามีกระแสเงินไหล
.
เข้าประเทศลดลงมาก
.
2.3 อินโดนีเซียมีการดำเนินการตามแผนก่อนที่จะเกิดการระบาดของ COVID-19 ให้มีการลดรายจ่ายสาธารณะผ่านการลดขนาดของหน่วยงานราชการ และนโยบายทางการคลังอย่างรัดกุมส่งผลให้กิจกรรมด้านเศรษฐกิจลดลงโดยปริยาย นอกจากนี้ ภาคการส่งออกไม่เติบโตเท่าที่คาดไว้ เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่งออกราคาตกลง ทั้งนี้ UNCTAD คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะฟื้นตัวได้พอประมาณ (fairly moderate recovery)
.
2.4 มาเลย์เซีย และฟิลิปปินส์ ต่างก็พบอัตราการติดเชื้อ COVID-19 ที่สูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอทำให้ต้องจำกัดการเดินทางของประชาชน ซึ่งเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี มาตรการทางการเงินที่เข้มแข็งของมาเลย์เซียได้ช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของค่าใช้จ่ายในการบริโภคที่ลดลง
.
2.5 เวียดนามเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคฯ ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าการคาดการณ์ เนื่องจากประสบความสำเร็จในการจำกัดการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเป็นปกติโดยเร็วและการส่งออกยังทำได้ดีอยู่
.
3. ข้อเสนอแนะของรายงานฯ
.
3.1 ควรต้องปูพื้นฐานสำหรับการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายทางการเงินที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวตามความต้องการของตลาด เพิ่มค่าแรง ส่งเสริมการลงทุนในภาคการผลิตศักยภาพสูง และขยายชนชั้นกลาง ซึ่ง UNCTAD อิงแนวทางที่สหรัฐฯ ใช้ในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจในช่วงของ Great Depressionและเป็นแนวทางที่เน้นการส่งเสริมความเสมอภาค โอกาส และความมั่นคงสำหรับทุกคน
.
3.2 ควรต้องใช้บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2552 ที่ภาคการเงินขาดการควบคุมและไม่มีความสอดคล้องกับความต้องการด้านการเติบโตของเศรษฐกิจและการพัฒนา รวมทั้งทำให้เกิดการกระจุกตัวด้านการตลาด (market concentration) ในภาคการธนาคาร ซึ่งในปัจจุบันทุกประเทศควรต้องระวังไม่ให้เกิดการกระจุกตัวด้านการตลาดที่จะทำให้มีการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่จะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในด้านสุขภาพของประชาชน
.
3.3 ความร่วมมือพหุภาคีจำเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดการกับปัญหาภาระหนี้สินของประเทศกำลังพัฒนา โดย UNCTAD สนับสนุนให้มีการปฏิรูปการจัดทำหลักประกันสัญญาหรือสัญญาเงินกู้ และการเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับข้อมูลภาระเงินกู้ เพื่อที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ภาระเงินกู้ของประเทศกำลังพัฒนาทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถบรรลุ SDGs
.
ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และการออมเงินของประชากรของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในช่วงของการระบาดของ COVID-19 นั้นมีศักยภาพที่จะทำให้เกิดอัตราการอุปโภคที่ขยายตัวสูงมาก นับเป็นโอกาสที่ภูมิภาคเอเชียจะวันออกเฉียงใต้และผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรต้องคำถึงถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการซื้อสินค้าออนไลน์และการคำนึงถึงความคุ้มค่าของสินค้าเป็นหลัก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกและของประเทศคู่ค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะเตรียมพร้อมได้อย่างทันท่วงที
.
สอท. ณ กรุงบรัสเซลล์