องค์การและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่าง ๆ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจบรูไนฯ ในปี 2564 จะสามารถเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 2 – 3 เช่น (1) IMF ร้อยละ 1.6 (2) AMRO ร้อยละ 3.1 และ (3) Centre for Strategic and Policy Studies (CSPS) ยังคงอัตราการเติบโตเท่ากับช่วงต้นปี 2564 ในอัตราร้อยละ 2.8 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ดีในไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2564 หลังจาก GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ติดลบร้อยละ 1.4 ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่ลดลงของอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมขุดเจาะน้ํามัน อุตสาหกรรมการผลิตก๊าซ LNG และอุตสาหกรรมก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของ ภาคอุตสาหกรรมน้ํามันและก๊าซปลายน้ํายังคงเติบโตได้ดี โดยเฉพาะการผลิตปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ ภาคการเกษตรกรรม ค้าปลีก ร้านอาหาร การบริการด้านสุขภาพ ภาคธุรกิจบริการ มีอัตราการเจริญแติบโตที่ดี อย่างไรก็ตามการปิดประเทศได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยแม้ว่าจะได้รับอานิสงส์จากการที่คนหันมาท่องเที่ยวในประเทศอยู่บ้าง แต่ไม่สามารถทดแทนรายได้ที่หายไปจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจัยสําคัญที่คาดว่าจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมหลักกลับมาเติบโตได้ในปลายปีคือความต้องการบริโภคน้ํามันที่เพิ่มสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของตลาดโลก
.
โดยบรูไนฯ มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่เดือน มกราคม – เมษายน 2564 มีจํานวน 7,027 ดอลลาร์บรูไน โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 3,900 ล้านดอลลาร์บรูไน และนําเข้า 3,127 ล้านดอลลาร์บรูไน โดยมูลค่าการค้าในเดือน เมษายน 2564 เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด (ร้อยละ 91.8) ในรอบ 1 ปี จาก 1,414 ล้านดอลลาร์บรูไน เป็น 2,193 ล้านดอลลาร์บรูไน และมีมูลค่าการส่งออก 1,139 ล้านดอลลาร์บรูไน และนําเข้า 1,055 ล้านดอลลาร์บรูไน ประเทศคู่ค้า 3 อันดับแรกสําหรับการส่งออก ได้แก่ สิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น ส่วนการนําเข้า ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย
.
สำหรับภาคอุตสาหกรรมการเกษตร การประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา และแปรรูปสินค้าประมง นั้นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ดังนี้ (1) ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี จาก 182.6 ล้านดอลลาร์บรูไน (ปี 2544) เป็น 470.9 ล้านดอลลาร์บรูไน (ปี 2563) (2) ภาคอุตสาหกรรมการประมง ขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี จาก 32.4 ล้านดอลลาร์บรูไน (ปี 2544) เป็น 75.6 ล้านดอลลาร์บรูไน (ปี 2563) (3) ภาคอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ําขยายตัวร้อยละ 19.4 ต่อปี จาก 930,000 ดอลลาร์บรูไน (ปี 2544) เป็น 32.4 ล้านดอลลาร์บรูไน (ปี 2563) และ (4) อุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าประมง ขยายตัวร้อยละ 13.7 ต่อปี จาก 370,000 ดอลลาร์บรูไน (ปี 2544) เป็น 4.83 ล้านดอลลาร์บรูไน (ปี 2563)
.
จะสามารถเห็นได้ว่า แม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศอีกครั้ง แต่เศรษฐกิจบรูไนฯ ในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก ไม่เพียงแต่ภาคอุตสาหกรรมหลัก ๆ อย่าง น้ํามันและก๊าซปลายน้ํายังคงเติบโตได้ดีเท่านั้น แต่ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่าง เกษตรกรรม ค้าปลีก ร้านอาหาร การบริการด้านสุขภาพ ภาคธุรกิจบริการ มีอัตราการเจริญแติบโตที่ดีเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจมหภาคของบรูไนฯ จะได้รับอานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกาและจีนเริ่มฟื้นตัว ทําให้ความต้องการบริโภคน้ํามันเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาวอีกด้วย
.
นอกจากนี้ บรูไนฯ ยังคงเป็นคู่ค้าลําดับที่ 9 ของไทยในอาเซียน และมีสัดส่วนร้อยละ 0.05 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ไทยและบรูไนฯ มีมูลค่าการค้ารวมถึง 9,070 ล้านบาท โดยไทยส่งออกมาบรูไนฯ 1,218 ล้านบาท ซึ่งการที่เศรษฐกิจ บรูไนฯ สามารถเติบโตได้ดีนั้น จะส่งผลดีกับคู่ค้าอย่างไทยด้วย โดยผู้ประกอบการไทย สามารถพิจารณาส่งออกสินค้าไปยังบรูไนฯ ได้ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความมั่นคงสูงทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ อีกทั้ง บรูไนฯ ยังมีผู้บริโภคที่กำลังซื้อสูงอีกด้วย โดยสินค้า 5 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปบรูไนฯ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (471 ล้านบาท) ข้าว (84.93 ล้านบาท) อาหารสัตว์เลี้ยง (84.85 ล้านบาท) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (35.40 ล้านบาท) ปูนซิเมนต์ (31.8 ล้านบาท)