การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจบรูไนเพื่อลดการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องตามรายงานของสถาบันวิจัย Centre for Strategic and Policy Studies (CSPS)
.
ของบรูไน โดยการส่งออกน้ำมันและก๊าซมีอัตราส่วนลดลงเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ โดยเมื่อปี 2504 – 2523 มีอัตราเฉลี่ยส่งออกถึงร้อยละ 99.4 ลดลงเหลือ 94.1 ระหว่างปี 2544 – 2562 และมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 47 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในปี 2563 ซึ่งเทียบเป็นร้อยละ 82 ของมูลค่าการส่งออก และร้อยละ 60 ของงบประมาณรัฐบาล
.
ในปัจจุบัน โรงกลั่นน้ำมัน Hengyi ซึ่งเริ่มเปิดทำการเมื่อปลายปี 2562 เป็นแหล่งรายได้สำคัญของเศรษฐกิจบรูไน โดยเมื่อปี 2563 ภาคอุตสาหกรรมน้ำมันปลายน้ำมีอัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 9 ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันและก๊าซหดตัวร้อยละ 8.6 ส่วนในปี 2565 รัฐบาลบรูไนได้มีแผนเริ่มผลิตขวดบรรจุก๊าซ LPG ในระยะที่ 2 ของการพัฒนาโรงกลั่นน้ำมัน Hengyi
.
นอกจากนี้ บรูไนยังมีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันและก๊าซภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบันบรูไนมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เขตเซเรีย (Tenaga Suria Brunei) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ทำการสำรวจพื้นที่สำหรับการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมใน 3 เขต ได้แก่ ตูตง (Bukit Panggal) เติมบูรง (Belingus) บรูไน-มัวรา (Kampong Sungai Akar) ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างพลังงานสะอาดได้ถึงร้อยละ 30 ภายในปี 2578 และได้ทำการติดตั้งแผงลอยพลังงานแสงอาทิตย์กลางทะเลเพิ่มเติมอีกด้วย
.
แม้ที่ผ่านมา บรูไนจะประสบความสำเร็จในการก่อตั้งโรงกลั่นน้ำมัน Hengyi และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมน้ำมันปลายน้ำเพื่อทดแทนรายได้ที่เริ่มลดลงจากภาคอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน แต่ศักยภาพในการสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมดังกล่าวยังคงไม่สูงมาก จึงควรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยอุปสรรคสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำมันปลายน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คือการดึงดูดเงินทุนต่างชาติในการจัดตั้งธุรกิจที่สามารถนำวัตถุดิบจากการกลั่นน้ำมันไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม และการส่งเสริมให้ทรัพยากรมนุษย์ของบรูไนมีความสนใจและเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจดังกล่าวด้วยตนเอง
.
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าบรูไนจะมีขนาดตลาดที่เล็กสำหรับนักลงทุนต่างชาติ แต่ตลาดอุตสาหกรรมน้ำมันกลับเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของประกาชรในประเทศ ซึ่งการที่บรูไนเริ่มหันมาปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยใช้พลังงานสะอาดนี้ แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวด้านกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนในการใช้พลังงานของโลก ซึ่งขณะนี้ บรูไนมีความจำเป็นและต้องการผู้มีความรู้ทางด้านพลังงานสะอาดจากต่างชาติเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเปิดกว้างสำหรับการค้าเสรี และการลงทุนจากต่างชาติอีกด้วย นี่จึงเป็นช่องทางของผู้ประกอบการไทยให้เข้าไปร่วมลงทุนพัฒนาพลังงานสะอาด รวมถึงถ่ายทอดทักษะด้านนี้แก่แรงงานชาวบรูไน นอกจากด้านของน้ำมันแล้ว บรูไนยังมุ่งปรับด้านอื่น ๆ ให้สอดรับกับการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในหลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมฮาลาล การท่องเที่ยว การบริโภคทรัพยากรป่าไม้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึงด้านนี้อย่างถี่ถ้วนก่อนการลงทุน และใช้ความโดดเด่นของไทย เช่น การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เข้าไปลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนในธุรกิจและสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประเทศเพื่อนบ้านไปด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน