สํานักงานสถิติแห่งชาติของบราซิล ได้รายงานว่า ภาวะเศรษฐกิจของบราซิลประจำไตรมาสที่ 2 (เมษายน – มิถุนายน 2565) เติบโตขึ้นร้อยละ 1.2 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยมูลค่า GDP อยู่ที่ 2.2 ล้านล้านเฮอัล (ประมาณ 4.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจบราซิล ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ขยายตัวขึ้นร้อยละ 2.5 นอกจากนี้ยังเติบโตต่อเนื่องติดต่อกัน 4 ไตรมาสด้วย ซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของบราซิล จำแนกออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
- จำแนกตามองค์ประกอบของ GDP
การบริโภคในประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบของ GDP ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 น้อยที่สุด เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว บราซิลได้ผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างต่าง ๆ รวมทั้งอนุญาตให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดดําเนินการแบบ face-to-face ได้ตามปกติ ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ ปรับตัวลงร้อยละ 0.9 ส่วนการลงทุนปรับตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 4.8 มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 2.5 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6
- จําแนกตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคส่วนต่าง ๆ
ภาคการเกษตร ขยายตัวขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 เนื่องจากปริมาณการผลิตของถั่วเหลืองและข้าวซึ่งเป็นผลผลิตที่สำคัญของประเทศ ลดลงร้อยละ 12 และร้อยละ 8.5 ตามลำดับ ด้านภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนต่อ GDP บราซิลมากที่สุด เติบโตขึ้นร้อยละ 1.3 โดยภาคธุรกิจบริการที่ขยายตัวขึ้น ได้แก่ ธุรกิจบริการขนส่ง คลังสินค้า และไปรษณีย์ ซึ่งเติบโตขึ้นที่ร้อยละ 10.6 ธุรกิจบริการข้อมูลข่าวสารและโทรคมนาคมขยายตัวขึ้นร้อยละ 5.1 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตขึ้นร้อยละ 0.4 และธุรกิจบริการอื่น ๆ ขยายตัวขึ้นร้อยละ 13.1 ส่วนภาคธุรกิจบริการที่ชะลอตัว ได้แก่ ธุรกิจการค้า (Commerce) ที่ชะลอตัวลงร้อยละ 0.1 และธุรกิจประกันต่าง ๆ ที่ชะลอตัวลงร้อยละ 0.3
อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรม ยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 2.2 แบ่งเป็น อุตสาหกรรมแปรรูป ขยายตัวขึ้นร้อยละ 1.7 อุตสาหกรรมก่อสร้างขยายตัวขึ้นร้อยละ 2.7 อุตสาหกรรมไฟฟ้า ประปา และแก๊สขยายตัวขึ้นร้อยละ 3.1 และอุตสาหกรรมแร่สกัดขยายตัวขึ้นร้อยละ 2.2
สถานการณ์การค้าระหว่างไทย – บราซิล ในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565
มูลค่าการค้าระหว่างไทย – บราซิล คิดเป็น 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขยายตัวขึ้นร้อยละ 9.40 หรือเพิ่มขึ้น 284.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.93 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย ส่งผลให้บราซิลเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 23 จากคู่ค้าทั้งหมดของไทย รวมถึงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยจากภูมิภาคลาตินอเมริกา
การส่งออกมีมูลค่ารวม 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 7.43 หรือลดลงจํานวน 89.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.64 ของมูลค่าการค้าส่งออกทั้งหมดของไทย สินค้าสําคัญที่ไทยส่งออกมาบราซิล ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ร้อยละ 24.16) ยางพารา (ร้อยละ 8.98) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 8.09) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (ร้อยละ 6.95) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (ร้อยละ 6.93) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ (ร้อยละ 5) เป็นต้น
ขณะที่การนําเข้ามีมูลค่ารวม 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 20.43 หรือเพิ่มขึ้นจํานวน 373.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการนําเข้าในช่วงเวลาดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.21 ของมูลค่าการค้านําเข้าทั้งหมดของไทย สินค้าสําคัญที่ไทยนําเข้าจากบราซิล ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (สินค้าส่วนใหญ่คือถั่วเหลือง) (ร้อยละ 83.55) น้ํามันดิบ (ร้อยละ 3.05) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 2.53) สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (ร้อยละ 1.49) ด้ายและเส้นใย (ร้อยละ 1.46) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (ร้อยละ 1.24) เยื่อกระดาษและ เศษกระดาษ (ร้อยละ 1.24) และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม (ร้อยละ 1.13) เป็นต้น
สรุปได้ว่า ไทยเสียดุลการค้าในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565 จํานวน 1.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเสียดุลการค้าเพิ่มขึ้นจํานวน 462.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเสียดุลการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 73.35 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากข้อมูลข้างต้น ไทยอาจพิจารณาหาช่องทางการส่งออกสินค้าเพิ่มเติม โดยอาจติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทย อันจะช่วยลดภาวะการขาดดุลการค้าในอนาคต
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย