ภาวะเศรษฐกิจของบราซิล
.
ในไตรมาสแรกของปี 2564 GDP ของบราซิลขยายตัวขึ้นร้อยละ 1.2 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย
(1) การบริโภคในประเทศชะลอตัวลงร้อยละ 0.1
(2) การใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัวลงร้อยละ 0.8
(3) การลงทุนเติบโตขึ้นร้อยละ 4.6
(4) มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7
(5) มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 โดยมีมูลค่า GDP ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเทียบเท่ากับในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19
.
นอกจากนี้ จากการจัดอันดับของ Consultancy Austin Rating พบว่า ภาวะเศรษฐกิจของบราซิลในไตรมาสแรกของปี 2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 ถูกจัดในอยู่ในอันดับที่ 19 จากการอันดับทั้งหมด 50 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ แม้ว่าบราชิลจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกที่ 2 แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2564 เติบโตขึ้น เนื่องจากมีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่เว้นระยะห่างและจำกัดกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจน้อยลงกว่าในปี 2563 ซึ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้แก่ ภาคการเกษตร (เติบโตขึ้นร้อยละ 5.7) ภาคอุตสาหกรรม (เติบโตขึ้นร้อยละ 0.7) และภาคบริการ (เติบโตขึ้นร้อยละ 0.4)
.
แม้ว่าบราซิลจะเริ่มประสบกับการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ Delta ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบราซิลโดยรวม แต่ขณะนี้ ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังคงแสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจของบราซิลที่มีทิศทางในเชิงบวก
.
สำหรับการประเมินภาวะเศรษฐกิจบราซิลในปี 2564 นักวิเคราะห์ของสถาบันการเงินของบราซิลได้คาดการณ์ว่ามูลค่า GDP ของบราซิลในปีนี้จะเติบโตขึ้น 5.28% เทียบกับปีก่อนหน้า
.
ตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ
.
- หนี้สาธารณะ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 บราซิลมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 1.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 84 ของมูลค่า GDP ของประเทศ
.
- อัตราเงินเฟ้อ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 8.99 ซึ่งเร่งตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน ส่งผลกระทบต่อภาวะค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะสินค้าและบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน
.
- อัตราดอกเบี้ยพื้นฐานล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 5.25 ซึ่งมีการปรับดอกเบี้ยขึ้น 4 ครั้งในปีนี้และยังเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ เพื่อบรรเทาสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
.
- อัตราการว่างงาน อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 14.6 ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2564 หรือมีจำนวนประมาณ 14.8 ล้านคน นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 บราซิลมีการจ้างงานมากกว่าเลิกจ้าง จำนวน 1.5 ล้านตำแหน่ง ประกอบด้วย การจ้างงาน 9.5 ล้านตำแหน่ง และการเลิกจ้าง 8 ล้านตำแหน่ง
.
- การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในปี 2563 บราซิลมี FDI มากที่สุดอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก อยู่ที่ 69,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
การค้าระหว่างไทยกับบราซิล
.
มูลค่าการค้าการนำเข้า – ส่งออกระหว่างไทยกับบราซิล ในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2564 ทั้งหมด 2,989 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเติบโตขึ้นร้อยละ 41.06 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.97 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย โดยบราซิลเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยอันดับที่ 23 จากประเทศคู่ค้าทั้งหมด และบราซิลยังคงเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยจากภูมิภาคลาตินอเมริกา
.
การส่งออกในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2564 มีมูลค่า 1,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.13 โดยบราซิลเป็นประเทศส่งออกที่สำคัญของไทยในอันดับที่ 24 และบราซิลยังประเทศส่งออกอันดับที่ 2 ของไทยจากภูมิภาคลาตินอเมริการองจากเม็กชิโก ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปยังบราซิลเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเนื่องจากบราซิลต้องการนำเข้าวัตถุดิบอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นจากการที่ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของบราซิลเริ่มกลับมาผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่ในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมของบราซิลได้รับผลกระทบจากมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ทำให้มีการชะลอการผลิตสินค้า ส่งผลต่อการลดการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ
.
สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกมายังบราซิลในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล ยางพารา รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
.
การนำเข้า ในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2564 มีมูลค่า 1,828 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.73 โดยบราซิลเป็นประเทศนำเข้าที่สำคัญของไทยในอันดับที่ 18 (สูงกว่าในปี 2563 ซึ่งอยู่ที่อันดับที่ 19) และบราซิลยังคงเป็นประเทศนำเข้าอันดับที่ 1 ของไทยจากภูมิภาคลาตินอเมริกา สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากบราซิลในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ เยื่อกระดาษ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เป็นต้น โดยประเทศไทยนำเข้าถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร และยังได้นำเข้าเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นเนื่องจากบราซิลได้เริ่มเข้ามาเปิดตลาดเนื้อวัวในไทยได้เพิ่มมากขึ้น
.
ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับบราซิล
.
เมื่อปี 2563 นักท่องเที่ยวชาวบราซิลเดินทางเข้ามายังประเทศไทยจำนวน 18,855 คน ซึ่งลดลงจากปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 69,714 คน คิดเป็นร้อยละ 72.95 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวบราซิลเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จากภูมิภาคลาตินอเมริกา ขณะเดียวกัน เมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้ามายังบราชิล จำนวน 4,025 คน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปยังบราซิลมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ และมากที่สุดเป็นอันดับที่ 9 จากทวีปเอเชีย
.
ปฎิเสธไม่ได้ว่าภูมิภาคลาตินอเมริกาโดยเฉพาะประเทศบราซิลซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุด ยังคงมีศักยภาพในการเติบโตในด้านของการค้าและการลงทุนกับประเทศไทยรวมถึงสมาชิกอาเซียนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยในปัจจุบันมีนักลงทุนจากไทยจำนวนมากเข้ามาประกอบธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจด้านอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เป็นต้น นอกไปจากนั้นธุรกิจภาพยนตร์และซีรี่ส์ไทย (T-Pop) ยังเป็นที่นิยมในวงกว้างครอบคลุมทวีปลาตินอเมริกาอีกด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยอาจเลือกพิจารณาส่งออก Soft Power เพื่อเสริมสร้างความเป็นที่รู้จักและเผยแพร่วัฒนธรรมไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อสร้างชื่อเสียงและโอกาสในการประกอบธุรกิจในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย