บังกลาเทศเป็นประเทศหนึ่งที่ภาคเอกชนไทยบุกเบิกเข้าไปทำการค้า การลงทุน ในภูมิภาคเอเชียใต้เนื่องจากมีศักยภาพทางภูมิเศรษฐศาสตร์ ทำเลที่ตั้งของบังกลาเทศที่สามารถเป็นจุดกระจายสินค้าของไทยไปยังภูฏาน เนปาล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย นอกจากนี้ บังกลาเทศยังเป็นตลาดขนาดใหญ่มีแรงงานจำนวนมาก ประชากรภายในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางมีกำลังซื้อสูงประมาณ 25% ของประชากรและกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ชาวบังกลาเทศโพ้นทะเลมีการส่งรายได้กลับบ้าน ตลอดจนนำองค์ความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ อีกทั้งชาวบังกลาเทศยังให้ความเชื่อมั่นในสินค้าและการบริการของไทย
.
ซึ่งที่ผ่านมา มีภาคธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนและดำเนินธุรกิจในบังกลาเทศแล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังพบด้วยว่า การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนไทยในบังกลาเทศไม่ได้ราบรื่นเสมอไป โดยยังมีอุปสรรคที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึง เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เอื้ออำนวยและส่งผลให้การขนส่งใช้เวลานาน มีต้นทุนสูง และเป็นอุปสรรคต่อการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า ซึ่งรัฐบาลบังกลาเทศอยู่ระหว่างเร่งพัฒนาซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นผลลัพธ์ใน 5 – 10 ปี
.
นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจในบังกลาเทศบางรายยังพบอุปสรรคด้านกฎระเบียบท้องถิ่นที่มุ่งควบคุมและจัดระเบียบมากกว่าส่งเสริมบรรยากาศทางธุรกิจ และแนวปฏิบัติหลายประการที่แตกต่างจากไทยซึ่งนักลงทุนไทยไม่คุ้นเคย เช่น การกำหนดให้อุตสาหกรรมบางประเภทต้องชําระภาษีรายได้ล่วงหน้าตั้งแต่ขั้นตอนการนําเข้าวัตถุดิบ (Advance Income Tax: AIT) ในอัตรา 2% ซึ่งหากมีการชำระไว้เกินก็จะคืนเงินภาษีให้ แต่ในทางปฏิบัติมักเกิดความล่าช้า และเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสให้แก่บริษัทที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ เป็นต้น จึงเป็นกรณีศึกษาที่ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และธุรกิจไทยที่สนใจออกไปลงทุนในต่างประเทศจะต้องศึกษาทั้งข้อดี ข้อจำกัด และพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนออกไปปักธงไทยในต่างแดน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา