เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา Bangladesh Garment Manufacturers and Exporters Association (BGMEA) โดยร่วมกับ Global Fashion Agenda (GFA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากําไร (ตั้งอยู่ที่กรุงโคเปนเฮเกน) Reverse Resources และ P4G (Partnering for Green Growth and the Global Goals 2030) ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลกในการณณงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น ได้ประกาศข้อริเริ่ม Circular Fashion Partnership โดยมีเป้าหมายสนับสนุนและเร่งการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมแฟชั่นไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในระยะยาวและขยายผลได้ (long-term and scalable transition) รายละเอียดมีดังนี้
.
- ปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 30 ราย โดยมีแบรนด์เสื้อผ้าที่ชื่อเสียงระดับโลก เช่น Bershka, Bestseller, C&A, Gina Trico, H&M, Marks&Spencer, Pull & Bear เป็นต้น ผู้ผลิตเสื้อผ้าในบังกลาเทศ อาทิ Amantex, Beximco, Astrotex Group, Echotex, Northern Group และผู้ผลิตเส้นใยจากวัสดุรีไซเคิลในประเทศต่างๆ อาทิ Birtla Cellulose, BlockTeXx, Cyclo, Marchi & Fildi, Lenzing AG, Recovertex โครงการนี้ยังคงเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมอยู่
.
- Circular Fashion Partnership จะช่วยเอื้อให้เกิดความร่วมมือในเชิงพาณิชย์ระหว่างแบรนด์เสื้อผ้า แฟชั่นชั้นนํา ผู้ผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าสําเร็จรูปและผู้ผลิตวัสดุรีไซเคิลในการพัฒนาและนําระบบใหม่ๆ มาใช้ในการรวบรวมวัสดุเหลือใช้ภายหลังการผลิตเพื่อนํากลับมาใช้ในการผลิตสินค้าตัวใหม่ นอกจากนี้ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยหาทางออกในการจัดการกับสินค้าค้างสต๊อกจํานวนมากในประเทศผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะสิ่งทอ เพิ่มการใช้เส้นใยรีไซเคิล เพิ่มพูนมูลค่าให้แก่วัสดุเหลือใช้ ตลอดห่วงโซ่การผลิตและสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่บังกลาเทศ โดยช่วยเร่งให้เกิดการผลิตและตลาดเส้นใยรีไซเคิลในประเทศ โมเดลธุรกิจที่ประสบความสําเร็จและสิ่งได้เรียนรู้จากโครงการดังกล่าวจะมีการเผยแพร่ในช่วงปลายปี 2564 ในเอกสาร Circularity Playbook for Bangladesh ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการดําเนินความร่วมมือในประเทศอื่นๆ ต่อไป เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น
.
- บังกลาเทศได้รับเลือกสําหรับการดําเนินโครงการดังกล่าว เนื่องจากโรงงานผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปในบังกลาเทศผลิตสินค้าประเภทเดียวกันในปริมาณมาก ดังนั้นวัสดุเหลือใช้จากการผลิตจึงค่อนข้างเป็นมาตรฐานเดียวกัน (Standardized) ทําให้ง่ายต่อการจัดการและการรีไซเคิล จึงเป็นที่ต้องการมากกว่าในบรรดาประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปอื่นๆ อย่างไรก็ดีปัจจุบันขยะสิ่งทอเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกส่งออก และถูกนํากลับมาใช้อีกในลักษณะ Down cycle (การนําวัสดุกลับมาใช้ใหม่ แต่คุณภาพจะลดลง จนวันหนึ่งกลายเป็นขยะในที่สุด) ดังนั้นในบังกลาทศ จึงมีโอกาสมากที่จะนําระบบการผลิตแบบหมุนเวียนมาใช้ โดยการเพิ่มศักยภาพด้านรีไซเคิลในประเทศ
.
- อนึ่ง BGMA ยังมีบทบาทสําคัญในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปในบังกลาเทศ และมีการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green growth) โดยได้ริเริ่มกิจกรรมและเข้าร่วมโครงการระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อนําแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในบังกลาเทศ เช่น Partnership for Cleaner Textile (PaCT) Water Resources Group 2030 ภายใต้ธนาคารโลก Fashion Industry Charter for Climate Action ภายใต้ UNFCCC Green Button Initiative ของรัฐบาลเยอรมัน เป็นต้น จากรายงาน Sustainability Report 2020 ของ BMGA ซึ่งเผยแพร่เมื่อ ปลายเดือน ธ.ค. 2563 ในปี 2562 บังกลาเทศมีจํานวนโรงงานผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปที่ได้รับการรับรองจาก United States Green Building Council ว่าเป็นโรงงานสีเขียว (Leadership in Energy and Environmental Design – LEED) มากที่สุดในโลก โดยมีทั้งหมด 120 แห่ง แบ่งเป็นระดับ Platinum 29 แห่ง ระดับ Gold 79 แห่ง ระดับ Silver 11 แห่ง และในระดับ Certified 5 แห่ง นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าอีกประมาณ 500 แห่งที่อยู่ระหว่างขอรับการรับรอง LEED จาก USGBC อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนจากการลงทุนสร้างโรงงานสีเขียวยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เจ้าของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปหลายรายกล่าวว่าผู้ซื้อในต่างประเทศยังไม่ยอมจ่ายค่าสินค้าในราคาที่สูงขึ้นแม้ว่าโรงงานของตนเป็นโรงงานสีเขียวแต่อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสําเร็จรูปในบังกลาเทศ ยังคงต้องปรับเปลี่ยนตามกระแสรักษ์โลกและพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
.
เคสตัวอย่างที่น่าสนใจของประเทศบังกลาเทศแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาและปรับตัวในเทรนด์อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพโดดเด่นของประเทศ สำหรับไทยที่มีนโยบายมุ่งไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) มากขึ้น อันสอดคล้องกับวาระแห่งชาติของไทยที่ตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ใหม่ของประเทศ ระหว่างปี 2564-2569 และการที่ประเทศไทยเป็นผู้นำในตลาดอุตสาหกรรมแบรนด์เสื้อผ้าและแฟชั่นในภูมิภาคอาเซียน ผู้ประกอบการไทยสามารถนำแนวคิดข้างต้นไปต่อยอดพัฒนาศักยภาพในธุรกิจประเภทนี้ในอนาคตเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา