สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เป็นประเทศในเอเชียใต้ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในส่วนตะวันตกของภูมิภาคเบงกอล “บังกลาเทศ” จึงหมายถึง “ประเทศแห่งอ่าวเบงกอล” และอาณาเขตของบังกลาเทศถูกล้อมรอบด้วยอินเดีย 3 ทิศทาง ยกเว้นพรมแดนใต้ติดอ่าวเบงกอล และเขตแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ติดกับประเทศเมียนมา ทั้งนี้บังกลาเทศมีระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด มุ่งเน้นการส่งออก และให้ความสำคัญในเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้ลงทุนหลัก และประเทศอื่น ๆ ได้แก่ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร
.
บังกลาเทศมีนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ “วิสัยทัศน์ 2021” เน้นการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่ม GDP ให้ได้ 10 % พร้อมทั้งลดอัตราความยากจน โดยการลดจำนวนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนให้ได้ 15 % ของทั้งประเทศ อีกทั้งมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการยกระดับบังกลาเทศจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดไปเป็นประเทศรายได้ปานกลางภายในปี 2564
.
ด้านจุดแข็งทางโครงสร้างของเศรษฐกิจบังกลาเทศ คือ แรงงานและทรัพยากรธรรมชาติราคาถูก ส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้บังกลาเทศพึ่งพาเศรษฐกิจหลัก 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป คิดเป็น 80% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และภาคบริการและแรงงานในต่างประเทศ
.
ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจบังกลาเทศพึ่งพาอุตสาหกรรมหลัก 3 ภาคส่วนข้างต้น แต่รัฐบาลบังกลาเทศได้พยายามส่งเสริมการลงทุนในสาขาอื่น ๆ ด้วย เช่น พลังงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ความต้องการในการดึงดูดการลงทุนยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยรายงานสถิติของธนาคารกลางบังกลาเทศระบุว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี ฉบับที่ 7 ปี 2559 – 2560 บังกลาเทศตั้งเป้าดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มีการลงทุนเพียงประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณล่าสุดของบังกลาเทศในเดือนกรกฎาคม ปี 2563 – มิถุนายน ปี 2564 ประเทศที่ลงทุนในบังกลาเทศสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ สิงคโปร์ และนอร์เวย์ โดยสาขาที่มีการลงทุนสูงสุด ได้แก่ พลังงาน สิ่งทอ และอาหาร ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของบังกลาเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2539 และมีการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่บังกลาเทศยังมีความขาดแคลนทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานและความล่าช้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ
.
ทางด้านการลงทุนของไทยในบังกลาเทศ ไทยมีมูลค่าการลงทุนสะสมในบังกลาเทศตามข้อมูลที่ได้รับจาก Bangladesh Investment Development Authority (BIDA) อยู่ที่ 1,181.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตัวอย่างการลงทุนของไทย ได้แก่ (1) โครงการก่อสร้างของบริษัท Italian-Thai Development จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับจีนในนามบริษัท FDEE มูลค่าลงทุน 1.263 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นเงินทุนของบริษัท Italian-Thai Development 127 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ (2) การซื้อกิจการบริษัท Cemex Asia Holdings Limited โดยบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง มูลค่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
.
นอกจากการลงทุนของไทยในบังกลาเทศข้างต้น สาขาการลงทุนที่บังกลาเทศประสงค์จะขยายความร่วมมือกับไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารทั้งสินค้าเกษตรและอาหารทะเล เนื่องจากบังกลาเทศมีวัตถุดิบจำนวนมากแต่ยังขาดเทคโนโลยีและการลงทุนด้านการรักษา การจัดเก็บ และการแปรรูปอาหารเพื่อการจำหน่ายในรูปแบบที่หลากหลาย ดังนั้นนักลงทุนและภาคเอกชนไทยควรพิจารณาโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจร่วมกับบังกลาเทศในด้านที่บังกลาเทศยังขาดแคลนดังกล่าว เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านการถนอมและแปรรูปอาหารของทั้งสองประเทศให้มีศักยภาพสู่ระดับสากลร่วมกัน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา