เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เป็นเรื่องที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปซึ่งได้เริ่มนำร่องมาระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ ประเทศใหญ่ ๆ ในเอเชียอย่างจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ก็มีการพัฒนาเมืองให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะแล้วในหลากหลายด้าน ได้แก่ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมือง การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้สำหรับประชาชนในพื้นที่เพื่อปรับพฤติกรรมของประชากรให้เข้าสู่ระบบเมืองอัจฉริยะ เช่น การพัฒนาสู่งสังคมไร้เงินสด การพัฒนาอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง การปรับใช้แอพพลิเคชั่นสำหรับช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากประเทศใหญ่ ๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว เมืองในภูมิภาคอาเซียนหลายเมืองต่างอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่เมืองอัจฉริยะเช่นเดียวกัน อาทิ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต นครโฮจิมินห์นครดานัง กรุงจาการ์ตา เป็นต้น โดยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะส่วนใหญ่จะนำรูปแบบการพัฒนามาจากประเทศที่ปรับใช้จริงแล้วในภูมิภาคยุโรป เพื่อนำมาเป็นตัวอย่างในการพัฒนา
กรุงเวียนนา เป็นหนึ่งใน Smart City ของภูมิภาคยุโรปที่ได้รับการยอมรับในการพัฒนาเมืองเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากการพัฒนา Smart City ของกรุงเวียนนาเป็นไปในลักษณะองค์รวม กล่าวคือมีการวางผังเมืองที่เน้นการอํานวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยอาศัยระบบคมนาคมขนส่งที่ได้รับการออกแบบมาตั้งแต่ในอดีตเป็นพื้นฐานที่สําคัญ ประกอบกับการดําเนินตามแผนยุทธศาสตร์ Smart City Vienna Framework Strategy ซึ่งได้วางกรอบการพัฒนาใน 4 มิติ ได้แก่ 1) Green and Open Space 2) Urban Mobility Plan Vienna 3) Public Participation และ 4) การวางแผนการใช้พลังงาน โดยวางอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เมืองที่ดีสําหรับเด็กจะดีสําหรับทุกคน (a city that is good for children is good for everybody)
การพัฒนาเมือง Smart City ของกรุงเวียนนาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นได้ว่า ประเทศไทยเองสามารถนำกรอบแนวคิดการพัฒนาเมืองของกรุงเวียนนามาปรับใช้ได้ โดยการสร้างความร่วมมือในประเด็นสำคัญ อาทิ 1) การสนับสนุนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างไทยกับกรุงเวียนนาในการจัดทํายุทธศาสตร์ Smart City ของไทยในภาพรวม 2) สำนักงานพัฒนาเมืองอัจฉริยะของกรุงเวียนนาอาจช่วยให้คําแนะนำอย่างใกล้ชิดในการยกร่าง blueprint สําหรับ Smart City และ Smart Quarters ในสามจังหวัดในเขต EEC ของไทยซึ่งสามารถใช้เป็นรูปแบบตัวอย่างการพัฒนา Smart City ในเมืองอื่น ๆ ของไทยได้ด้วย 3) ความร่วมมือระหว่างกันในการจับคู่ระหว่างการพัฒนาของกรุงเวียนนากับโครงการ Old Bangkok Innovation District ที่ดําเนินโดยสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติและมหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งนี้ อาจเชื่อมโยงกับศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ซึ่งดําเนินโครงการในลักษณะเดียวกัน 4) สร้างความร่วมมือรายสาขาที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง อาทิ ความร่วมมือด้านระบบ waste management และ incineration กับกรุงเวียนนา ซึ่งเป็นระบบการกําจัดขยะที่ สามารถหมุนเวียนมาผลิตพลังงานไฟฟ้า 5) การพิจารณาความเป็นไปได้ในการพัฒนา Sister City ระหว่างกรุงเทพมหานครกับกรุงเวียนนา
ทั้งนี้ การดําเนินการพัฒนา Smart City ของไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยได้มีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนำร่อง เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น ซึ่งในขณะนี้เน้นเพียงด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งยังคงแตกต่างกับของกรุงเวียนนาที่กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา Smart City ทุกองค์ประกอบโดยเน้นคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกกลุ่มเป็นโจทย์หลัก รวมทั้งการพัฒนาเมืองควบคู่การนํานวัตกรรม เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเป็น software ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนา Smart City ในแต่ละแห่งเป็นไปตามปัจจัย ศักยภาพและข้อจํากัดของแต่ละเมืองซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป โดยไทยสามารถนําหลักคิดการพัฒนาเมืองของกรุงเวียนนามาใช้และปรับให้เข้ากับบริบทของไทยได้ อาทิ การนำเอาวิธีการทํางานและหลักการบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ มาศึกษา และทดลองใช้ ซึ่งจะทำให้การดําเนินโครงการ Smart City ของไทยดำเนินไปบนฐานของข้อมูลที่รอบด้านต่อไป