โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ร่างคู่มือมุ่งเน้นเรื่องเคมีสีเขียวและยั่งยืนล่วงหน้าก่อนการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 5 (UNEA-5) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจอย่างมากทั่วโลก เนื่องจากมีศักยภาพในการช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) คาดว่าฉบับสมบูรณ์จะเสร็จในเร็ว ๆ นี้
.
โดยคู่มือดังกล่าวมีชื่อว่า “Green and Sustainable Chemistry: Framework Manual” ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ประเทศต่าง ๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื้อหากล่าวถึงความจำเป็น สิ่งที่มุ่งหวัง และวิธีการพัฒนาผ่านเครื่องมือและมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งนำเสนอภาพรวมของวิวัฒนาการของแนวคิด “เคมีสีเขียว” ผ่านหลักการ 12 ประการ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1998 ในขณะที่ “เคมีอย่างยั่งยืน” เป็นการดำเนินการแบบองค์รวมมากกว่า
.
เนื้อหากล่าวถึงวัตถุประสงค์ของเคมีสีเขียวและยั่งยืน 10 ประการ ได้แก่ การลดความอันตรายของสารเคมี หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนและเลือกตัวเลือกที่อาจทำให้แย่ลง การจัดหาวัตถุดิบและแหล่งทรัพยากรอย่างยั่งยืน การพัฒนากระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน การลดการปล่อยสารเคมีและมลพิษ การสร้างระบบหมุนเวียนแบบปลอดสารพิษ การเพิ่มผลประโยชน์ทางสังคมสูงสุด การปกป้องคนงาน ผู้บริโภคและกลุ่มประชากรที่เปราะบาง และการพัฒนาแนวทางสำหรับความท้าทายด้านความยั่งยืน
.
โดยผ่านการแนะนำการดำเนินการโดยเฉพาะสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เช่น (1) การที่รัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการวิจัยสีเขียวและยั่งยืนในอุตสาหกรรมและสถาบันการวิจัย (2) มหาวิทยาลัยนำแนวทางเคมีสีเขียวและยั่งยืนเข้าบรรจุในหลักสูตรการสอน ทำการวิจัย และการสนับสนุน start-up (3) บริษัทเคมีใช้หลักแนวทางการประเมินวัฏจักรชีวิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า และตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยนสารเคมีที่น่ากังวลด้วยนวัตกรรม (4) องค์กรภาคประชาสังคมนำความรู้ไปสู่ผู้บริโภค เพื่อช่วยสร้างความต้องการสารเคมีและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
.
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการเหล่านี้และการดำเนินการอื่น ๆ คู่มือยังได้กล่าวถึง
.
- การใช้นโยบายและโปรแกรมสำหรับแต่ละภาคส่วนเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านเคมีสีเขียวและยั่งยืน
- การกำหนดเครื่องมือประเมิน และแผนการรายงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความคืบหน้าและการพัฒนาเคมีสีเขียวและยั่งยืน
- การสร้าง Road map เพื่อส่งเสริมการดำเนินการด้านเคมีสีเขียวและยั่งยืนในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน รวมถึงการดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่ดี
- การใช้เครื่องมือและมาตรการของการพัฒนาเคมีสีเขียวและยั่งยืน เช่น การส่งเสริมแนวทางการประเมินวงจรชีวิต
- การเพิ่มความตระหนักและแนวคิดริเริ่มด้านการศึกษาเพื่อนำแนวคิดเคมีสีเขียวและยั่งยืนไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง
.
ทั้งนี้คู่มือดังกล่าวสร้างขึ้นจาก Global Chemicals Outlook (GCO-II) ฉบับที่ 2 ซึ่งเผยแพร่ในปี 2562 เป็นการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสในการพัฒนาเคมีสีเขียวและยั่งยืนตลอดทั้งคุณค่าและห่วงโซ่อุปทานรวมถึงมาตรการเพื่อเสริมสร้างการดำเนินการ ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้นทางรัฐบาลได้มีการเน้นถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน จากการประกาศให้ BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นวาระแห่งชาติ โดยผู้ประกอบการไทยควรมีการศึกษาพัฒนาการเกี่ยวกับกระแสความสนใจในโลก เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน BCG Economy เนื่องจากเป็นประเด็นสากลที่ผู้บริโภคในตลาดเป้าหมายอาจให้ความสำคัญ และเป็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานแนวทางสากลอีกด้วย ซึ่งการปรับตัวให้เข้ากับกระแสความสนใจเหล่านี้นั้นจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสในการมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ นักลงทุนชาวไทยยังสามารถพิจารณาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม หรือมีการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเคมีสีเขียว สิ่งแวดล้อม หรือพลังงานทางเลือก
.
สถานเอกอัครราชทูต/ คณะผู้แทนถาวรฯ ณ กรุงเวียนนา