ไทย –ออสเตรียมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน ในทุก ๆ ปีชาวออสเตรียประมาณ 100,000 คนเดินทางมายังประเทศไทยและอีกหลายพันคนอาศัยอยู่ในประเทศไทย อีกทั้งมีความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ รวมถึงด้านธุรกิจ มีตัวแทนและสำนักงานขายของบริษัทสัญชาติออสเตรียประมาณ 110 แห่ง และบริษัทร่วมทุนด้านการผลิตอีกประมาณ 10 แห่งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ ไทย – ออสเตรียยังได้เดินหน้าความร่วมมือที่สนใจร่วมกัน 7 สาขา ตามกรอบ MOU ดังต่อไปนี้
(1) สาขาการท่องเที่ยว การจัดงาน “The Amazing Thailand Roadshow Austria” ณ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 ของหน่วยงานไทย อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยเปิดพื้นที่ให้ผู้แทนจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมจากไทยกว่า 30 แห่ง เดินทางมาพบกับผู้แทนจากบริษัทจัดการท่องเที่ยวในออสเตรียและจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคยุโรปกว่า 60 ราย เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวอีกครั้งภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ มีการชี้ช่องเปิดโอกาสทางธุรกิจและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทย อาทิ การยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางออสเตรีย และชาติสมาชิกสหภาพยุโรปอีกหลายประเทศที่ขยายเป็นไม่เกิน 45 วัน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 มีนาคม 2566
(2) สาขาเกษตรอินทรีย์ เมื่อวันที่ 25-30 กันยายน 2565 สถานเอกอัครราชทูตได้นำคณะผู้แทนจากฝ่ายออสเตรียเยี่ยมชมการดำเนินการของโครงการหลวง โดยศึกษาดูงานการวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเยี่ยมชมกลุ่มผักอินทรีย์ของภาคเอกชน โดยคณะผู้แทนฝ่ายออสเตรียได้เยี่ยมชมและรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกผัก/ผลไม้เมืองหนาว ตลอดจนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการทำเกษตรอินทรีย์ของออสเตรีย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในออสเตรีย/EU กับไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ และโอกาสในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไปยังออสเตรีย/EU ในอนาคต
(3) สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 สถานเอกอัครราชทูตได้จัด webinar หัวข้อ Bio-Circular-Green Economy: A model for sustainable businessร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) โดยเชิญผู้แทนจาก UNIDO หน่วยงานของสหประชาชาติที่มีภารกิจสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) / สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และภาคเอกชนไทย (บริษัท “Let’s Plant Meat”) ร่วมอภิปราย
นอกจากนี้ภารกิจในกรอบ UNIDO ของ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา เน้นให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change strategy) และพลังงานไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green hydrogen initiatives) ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือ public-private partnership การแสวงหาแหล่งเงินทุนจากภายนอก UNIDO ด้วย
(4) สาขาเมืองอัจฉริยะ ไทยได้หารือและศึกษาดูงานเรื่องเมืองอัจฉริยะ (smart city) กับออสเตรีย อาทิ City of Vienna / Urban Innovation Vienna / Aspern (Seestadt) Smart City แล้วหลายครั้ง อาทิ การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Smart City Framework Development Workshop ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม 2561 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 สถานเอกอัครราชทูตได้จัดกิจกรรม webinar หัวข้อ “Now and Beyond COVID-19: How innovation plays a vital role in healthcare services” โดยเน้นเรื่องแนวปฏิบัติที่ดี การบริหารจัดการของเมืองขนาดใหญ่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ โดยมีผู้แทนของ WHO และ CEO ของ Urban Innovation Vienna ร่วมอภิปรายพร้อมผู้แทนฝ่ายไทย
(5) สาขา SMEs และ Startup เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 สถานเอกอัครราชทูตร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และสถานเอกอัครราชทูตในยุโรปอีก 5 แห่ง ได้จัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ “Europe-Asia Startup Day” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล/ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับระบบนิเวศ (ecosystem) สำหรับ startup ในประเทศต่าง ๆ รวมถึงโอกาสและแรงจูงใจสำหรับ startup ในยุโรปที่ต้องการไปลงทุนหรือประกอบธุรกิจในไทย โดยผู้แทน VBA ได้เดินทางเยือนไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลงทุนในด้าน Startups development and FoodTech Cooperations อีกด้วย
นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตได้เสนอโครงการส่งเสริมช่องทางการลงทุนและขยายโอกาสทางธุรกิจระหว่าง startup ไทยและ startup ออสเตรีย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ในปีงบประมาณ 2566 โดยสถานเอกอัครราชทูตจะร่วมมือหน่วยงานทีมประเทศไทยคัดเลือกบริษัทสตาร์ตอัพไทยในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี ธุรกิจสร้างสรรค์ ธุรกิจสีเขียว หรือธุรกิจอื่น ๆ ที่สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และ BCG เดินทางมาร่วมงานส่งเสริมธุรกิจและเครือข่ายธุรกิจ startup ที่กรุงเวียนนา (Vienna’UP) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
(6) การพัฒนากำลังคน ไทย-ออสเตรียได้สร้างความร่วมมือในด้านนี้ ได้แก่ (1) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาในการฝึกอบรมโดยใช้การทำงานเป็นฐาน มุ่งเน้นพัฒนากรอบความร่วมมือการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาโดยการเรียนรู้โดยใช้การทำงานเป็นฐานในโรงเรียน วิทยาลัย สถาบัน อาชีวศึกษา และสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการลงนามร่วมกันในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565
(2) การเข้าร่วมโครงการ INCREASE (INnovative Capacity building by participative and REflective teacher training for Academia, Society and Enterprises) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยในออสเตรีย โปแลนด์ เวียดนาม และไทย ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก EU ในกรอบ Erasmus+ เน้นการฝึกอบรมครูผู้สอนให้สามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีและรูปแบบการสอนใหม่ ๆ เป็นไปตามมาตรฐานสากล ความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีกับสถาบันอุดมศึกษาในยุโรป
(3) การร่วมมือกับบริษัท AE Consulting Group เล็งผลักดันโครงการความร่วมมือเรื่องหลักสูตรพยาบาล เนื่องจากเห็นว่า ในอนาคตอันใกล้หลายประเทศจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก (aging society) ทั้งในยุโรปและเอเชีย โดยออสเตรียมีความก้าวหน้าด้านการแพทย์ในระดับต้น ๆ ของยุโรป ขณะที่ไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ จึงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกันในอนาคต และ
(4) เครือข่ายทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เครือข่าย ASEA-UNINET) โดยเครือข่ายดังกล่าวเน้นการแลกเปลี่ยนทุนการศึกษา ความร่วมมือในการวิจัยและกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนและร่วมมือในด้านศิลปวัฒนธรรม ทั้งด้านดนตรี ศิลปะร่วมสมัย ไปจนถึงศิลปะการออกแบบเสื้อผ้า ซึ่งทั้งออสเตรียและไทยต่างมีมหาวิทยาลัยเป็นสมาชิกรวมกันถึง 37 แห่ง (ออสเตรีย 19 แห่ง / ไทย 18 แห่ง)
(7) สาขาเทคโนโลยีสิ่งทอ ไทยเป็นที่ตั้งของโรงงานด้านสิ่งทอที่สำคัญของออสเตรีย เช่น
บริษัท Lenzing เป็นบริษัทผู้ผลิตเส้นใยเซลลูโลสที่มีคุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอชั้นนำของโลก มีแบรนด์สินค้าในเครือ อาทิ TencelTM, VeocelTM, LENZING™ ECOVERO™ โดยเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2537 ที่ จังหวัดปราจีนบุรี
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 บริษัท Lenzing ได้เปิดโรงงานผลิตเส้นใย lyocell ที่ลงทุนใหม่ในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม จังหวัดปราจีนบุรี มูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 350 คน โดยโรงงานในประเทศไทยเป็นโรงงานผลิตเส้นใย Lyocell ที่มีขนาดใหญ่และกำลังการผลิตสูงที่สุดในโลก (100,000 ตัน/ปี)และอาจขยายกำลังการผลิตและการลงทุนในไทยอีกในอนาคต
บริษัท Anita ก่อตั้งมาแล้ว 135 ปี (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1886) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชุดชั้นใน ชุดนอน ชุดกีฬาของสตรีและบุรุษ และชุดว่ายน้ำสตรีชั้นนำของออสเตรียมีฐานการผลิตที่จังหวัดชลบุรี เกิดการจ้างงาน 400 คน โดย CEO ของบริษัท Anita เปิดเผยว่า ข้อดีของประเทศไทย คือ มีบริษัท suppliers ด้านสิ่งทอที่หลากหลายและคุณภาพดี สามารถส่งวัตถุดิบต่าง ๆ ให้ทางบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ suppliers ส่วนใหญ่เป็น SMEs โดยทางบริษัทมีนโยบายสนับสนุนการดำเนินการของ SMEs ทั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายกิจการเพิ่มเติมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
สถานเอกอัครราชทูต/คณะผู้แทนถาวรฯ ณ กรุงเวียนนา
อ้างอิง: https://www.bmeia.gv.at/th/oeb-bangkok/bilaterales/thailand/