ในปี 2564 ปริมาณขยะทั่วประเทศออสเตรียอยู่ที่ 77.38 ล้านตัน อัตราการเกิดขยะอยู่ที่ 3,493 กิโลกรัม/คน/ปี โดยสัดส่วนขยะสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ ขยะจากแร่ต้นกําเนิด เช่น อิฐ หิน ปูน (ร้อยละ 81.3) ขยะมูลฝอยจากครัวเรือน (ร้อยละ 7.6) ขยะโลหะ (ร้อยละ 4.5) ขยะอินทรีย์ (ร้อยละ 3.7) และขยะจากการกลั่นน้ํามันและถ่านหิน (ร้อยละ 3.0)
ขยะครัวเรือน มีปริมาณอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน ร้อยละ 46 เป็นขยะเก่าตกค้าง เช่น เหล็กเก่า ไม้เก่า ลังกระดาษ เป็นต้น รองลงมาเป็นขยะมูลฝอยร้อยละ 24 และ ขยะอินทรีย์ ร้อยละ 22 ทั้งนี้ ขยะครัวเรือนร้อยละ 61.9 ถูกนําไปรีไซเคิล โดยแต่ละครัวเรือนจะต้องคัดแยกขยะมูลฝอยและขยะอินทรีย์ใส่ในถังที่จัดไว้ประจําที่พักอาศัย ส่วนกระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ขยะขนาดใหญ่ (Bulky waste) ขยะอันตราย และขยะเก่าตกค้าง น้ํามันทอดอาหารที่ใช้แล้ว ต้องนำไปทิ้งที่ศูนย์รวบรวมขยะ (waste collection centers)
ในส่วนของขยะอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมกระดาษ โลหะ แก้ว ไม้อัด และพลาสติก ประเภทแก้วและกระดาษจะนําไปรีไซเคิล ส่วนตะกรัน/กากแร่ ขี้เถ้า และฝุ่นละออง จะถูกกําจัดตามปกติเนื่องจากไม่เป็นอันตราย และสำหรับขยะของเสียอันตรายจะนําไปผ่านกระบวนการบําบัดของเสียทางเคมี-ฟิสิกส์ (chemical-physical process) เพื่อให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายและลดการปนเปื้อนในสถานที่ฝังกลบ
และสำหรับส่วนที่ยังมีความเสี่ยงอยู่จะถูกส่งไปที่ศูนย์กําจัดขยะเฉพาะทาง นอกจากนี้ ร้อยละ 62.3 ของปริมาณขยะอุตสาหกรรมทั้งหมดสามารถนําไปใช้เป็นวัตถุดิบเสริมในอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตได้
ทั้งนี้ ออสเตรียมีอัตราการนํากลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิลขยะจากครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ร้อยละ 62.2 ซึ่งสูงกว่าค่าเป้าหมายของสหภาพยุโรปที่กําหนดไว้ที่ร้อยละ 55 ขณะเดียวกัน ออสเตรียมีอัตราการกําจัดขยะด้วยการเผาที่ร้อยละ 35.7 (ค่าเฉลี่ย EU ร้อยละ 27) และจัดการขยะด้วยการฝัง (landfill) ค่อนข้างต่ําที่ร้อยละ 1.8 อีกทั้งยังมีมาตรการด้านภาษีและการบังคับให้มีการแยกขยะเพื่อสนับสนุนการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ โรงงานเผาขยะในกรุงเวียนนาสามารถผลิตพลังงานสําหรับทําความร้อนและกระจายส่งภายในเมืองได้อย่างเพียงพอ
โรงเผาขยะชปิทเตอเลา (Spittelau waste incineration plant) เป็นศูนย์กําจัดขยะและแหล่งผลิตพลังงานความร้อนที่สําคัญของกรุงเวียนนา โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 สามารถกําจัดขยะครัวเรือนในกรุงเวียนนาได้ 250,000 ตัน/ปี และผลิตพลังงานความร้อนได้ 500 GWh/ปี ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการพลังงานความร้อน 60,000 ครัวเรือน และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 60 GWh/ปี สําหรับการใช้งานของ 50,000 ครัวเรือน
โดยโรงเผาขยะชปิทเตอเลามีระบบควบคุมดูแลการเผาขยะในทุกขั้นตอน และใช้เทคโนโลยีฟอกไอเสียที่สามารถปล่อยควันที่มีสัดส่วนมลพิษตกค้างปะปนต่ํากว่าที่กฎหมายกําหนดถึงร้อยละ 90 ไม่เป็นอันตรายต่อชุมชนโดยรอบ นอกจากนี้ขยะที่หลงเหลือตกค้างจากการเผาไหม้ ได้แก่ ขี้เถ้า ฝุ่นละออง และขยะที่ทนทานต่ออุณหภูมิความร้อนของเตาเผา เช่น หิน แก้ว แร่บางชนิด จะถูกนําไปแปรรูปเป็นคอนกรีตขี้เถ้า (slag concrete) เพื่อนําไปใช้ประโยชน์ต่อไป นอกจากนี้ ภายในโรงเผาขยะฯ ยังมีนวัตกรรม ระบบทําความสะอาดก๊าซไอเสีย (flue gas cleaning systems) และเทคโนโลยีฟอกไอเสีย (Air pollution control technology) ที่พัฒนาโดยบริษัทออสเตรีย ANDRITZ ที่อาศัยหลักการทํางานของกระบวนการทางความร้อน (Thermal treatment) เพื่อนําพลังงานที่ได้จากการเผาขยะไปใช้ต่อ ทำให้จนกลายเป็นแหล่งพลังงานที่สําคัญแหล่งหนึ่งของกรุงเวียนนา
เทคโนโลยีและนวัตกรรมจัดการขยะของออสเตรียที่น่าสนใจ
- ซอฟท์แวร์เชื่อมต่อเครือข่ายจุดทิ้งขยะ/บรรจุภัณฑ์และวางแผนการจัดเก็บขยะ โดยใช้รถบรรทุกราว 1,000 คันต่อวันในการถ่ายเทขยะบรรจุภัณฑ์ออกจากจุดทิ้งขยะ
- ระบบ Near Infrared Radiation (NIR) ใช้ในการสแกนคัดแยกประเภทขยะพลาสติก
- แอพลิเคชัน Digi-Cycle App ระบบสแกนบรรจุภัณฑ์ จะปรากฏวิธีรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว และจุดทิ้งขยะสําหรับบรรจุภัณฑ์นี้ที่ใกล้ที่สุด โดยแอพลิเคชันฯ ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดีอีกด้วย (เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างบริษัท Saubermacher AG และ ARA (Altstoff Recycling Austria) AG กับบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ อาทิ Coca Cola, Brau Union, Rauch, Red Bull และ Vöslauer)
- นวัตกรรมของเครื่องจักรสําหรับแยกขยะที่หลากหลาย
- บริษัท REDWAVE คิดค้นเครื่องจักรสําหรับแยกขยะเพื่อการรีไซเคิลโดยใช้เทคโนโลยี Digital-Assistant-Solution ช่วยอํานวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
- บริษัท Binder+Co สามารถพัฒนาเครื่องจักรเทคโนโลยีคุณภาพสูงสําหรับแยกขยะอลูมิเนียมอัลลอยด์ (โลหะผสมอลูมิเนียม)
- บริษัท Lindner สามารถคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยประหยัดพลังงานของเครื่องบดย่อยขยะในกลุ่ม shredding technology โดยสามารถประหยัดพลังงานจากเดิมถึงร้อยละ 40
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์