“ออสเตรีย” เป็นหนึ่งในประเทศ “ผู้นำด้านนวัตกรรมสีเขียว” โดยจากการจัดอันดับ Eco-Innovation Index 2022 ของ European Environment Agency (EEA) ได้จัดให้ออสเตรียอยู่ในอันดับที่ 3 ของยุโรป (รองจากลักเซมเบิร์กและฟินแลนด์) และจากการจัดอันดับ Environmental Performance Index 2022 ในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ออสเตรียยังได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 8 ของโลกด้วย อีกทั้งออสเตรียยังมีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม การเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน และการพัฒนาพลังงานทางเลือกมายาวนาน โดยปัจจุบันร้อยละ 70 ของความต้องการไฟฟ้าสามารถผลิตจากแหล่งพลังงานน้ำ และมีบริษัทมากกว่า 2,700 แห่งประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม โดยมีบริษัทชั้นนำ เช่น Andritz, EVN, Fronius, Siemen, Steiermark Energie และ Verbund และมีสัดส่วนการส่งออกเทคโนโลยีถึงร้อยละ 72
ทั้งนี้ สาขาเทคโนโลยีสีเขียวที่มีศักยภาพของออสเตรีย มีรายละเอียดดังนี้
ด้านพลังงานสะอาด (clean energy)
(1) ไฮโดรเจน เป็นอีกหนึ่งสาขาที่ออสเตรียมีความก้าวหน้าในระดับโลก โดยมีโรงงานนำร่องผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายใต้โครงการ H2Future ตั้งอยู่ในพื้นที่บริษัท Voestalpine เมือง Linz เพื่อบรรลุเป้าหมายการผลิตเหล็กกล้า (steel) ที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยใช้เครื่องผลิตอิเล็กโตรไลเซอร์ (electrolyser) ของ SIEMENS ที่มีกำลังผลิต 6MW ถือว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในปัจจุบัน อีกทั้งมีศูนย์วิจัย HyCentA ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่ Graz University of Technology เมือง Graz เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียวโดยเฉพาะ และมีความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาแนวทางการนำเทคโนโลยีไปใช้จริง โดยเน้นการผลิตพลังงานไฮโดรเจนด้วยอิเลคโตรไลเซอร์การผลิตเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cells) การนำพลังงานไฮโดรเจนไปใช้ในการขนส่ง และเทคโนโลยีไฮโดรเจนหมุนเวียน นอกจากนี้ บริษัท RAG Austria AG ยังมีโครงการ “Underground Sun Storage” ซึ่งแปลงพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้อยู่ในรูปของไฮโดรเจนสีเขียวแล้วมีการกักเก็บพลังงานไว้ใต้ดินที่เมือง Gampern ซึ่งเป็นแหล่งเก็บพลังงานไฮโดรเจนใต้ดินแห่งแรกของโลก
(2) แสงอาทิตย์ ออสเตรียเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศสมาชิก EU ที่มีกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้ง (installed solar capacity) ไม่น้อยกว่า 1 GW ต่อปี โดยมีกำลังผลิตอยู่ที่ประมาณ 3.8 GW และตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 13 GW หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของแหล่งพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งต้องการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ให้ได้ 1 ล้านแห่งภายในปี พ.ศ. 2573 ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในปี พ.ศ. 2566 นี้ รัฐบาลออสเตรียได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 600 ล้านยูโร ส่งผลให้ปริมาณการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในออสเตรียมีอัตราเติบโตสูง รวมทั้งมีศักยภาพในการพัฒนาระบบเซลล์แสงอาทิตย์ผสานวัสดุอาคาร (Building-integrated photovoltaics: BIPV) เช่น หลังคา และผนังอาคาร เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Photovoltaic Power Systems Programme ของ International Energy Agency (IEA PVPS Task 15) ทั้งนี้ บริษัทชั้นนำด้านการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของออสเตรียในปัจจุบัน ได้แก่ Wien Energie, KPV Solar, Energetica Industries, Sharp Corporation และ Hilber Solar
ด้านการสัญจรอย่างยั่งยืน (sustainable mobility)
(1) แบตเตอรี่ อุตสาหกรรมยานยนต์ในออสเตรียส่วนใหญ่ (ร้อยละ 87) ผลิตชิ้นส่วนเพื่อการส่งออก และแม้ว่าออสเตรียไม่ได้เป็นฐานการประกอบยานยนต์ แต่มีจุดเด่นในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและชิ้นส่วนต่าง ๆ โดยเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2564 รัฐบาลออสเตรียได้ออกข้อริเริ่ม Austrian National Battery Initiative เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแบตเตอรี่ยานยนต์ที่ยั่งยืน อีกทั้งบริษัทออสเตรีย 6 แห่ง จาก 42 แห่งใน 12 ประเทศสมาชิก EU ยังเข้าร่วมในโครงการ Important Project of Common European Interest (IPCEI) ของ EU สาขาด้านแบตเตอรี่ (EuBatln) เพื่อพัฒนานวัตกรรมและเสริมสร้างขีดความสามารถในการผลิตแบตเตอรี่ที่ยั่งยืน โดยมีการจัดตั้งศูนย์ Battery Innovation Center ของบริษัท AVL ที่เมือง Graz เพื่อวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคยุโรป รวมถึงเทคโนโลยี fuel cell สำหรับยานยนต์ขนาดใหญ่
(2) เทคโนโลยีชาร์จไฟฟ้าไร้สาย เป็นหนึ่งในตัวอย่างความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตของออสเตรีย โดยบริษัท Easelink ได้พัฒนาระบบการชาร์จไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าไร้สายภายใต้เทคโนโลยี “Matrix Charging” ทั้งนี้ ยานยนต์ที่ติดตั้ง Matrix Charging Connector เมื่อเข้าจอดในจุดที่พื้นผิวถนนและได้ติดตั้งระบบ charging pad ไว้ จะสามารถชาร์จไฟฟ้าได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องต่อสายชาร์จไฟฟ้าเข้ากับยานยนต์ จึงสะดวกสำหรับผู้ขับขี่และช่วยประหยัดพื้นที่ในการวางตู้ชาร์จไฟฟ้าตามจุดต่าง ๆ ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2566 โครงการ eTaxi Austria ได้เริ่มนำร่องในการนำระบบดังกล่าวมาใช้กับแท็กซี่ในกรุงเวียนนาและเมือง Graz ซึ่งมีต้นทุนการผลิตน้อยกว่าระบบชาร์จไฟฟ้าประจุรถยนต์ไฟฟ้าเหนี่ยวนำ (Inductive Charging) อีกด้วย
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต/คณะผู้แทนถาวรฯ ณ กรุงเวียนนา
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์