รัฐบาลออสเตรเลียตั้งเป้าเป็นประเทศผู้ส่งออกไฮโดรเจนชั้นนำของโลกในปี 2030 เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนลง ร้อยละ 50 ในปี 2050 ได้ โดยนายโดมินิค เพอร์รอตเทต มุขมนตรีแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้แถลงนโยบายการผลิตกรีนไฮโดรเจนในรัฐนิวเซาท์เวลส์ซึ่งจะมีศูนย์กลางการผลิตอยู่ที่เขตฮันเตอร์และเขตอิลลาวาร์ร่า โดยกำหนดเป้าหมายสำหรับปี 2030 จำนวน 7 ข้อ
.
ได้แก่ (1) สามารถผลิต Green Hydrogen ได้ 110,000 ตันต่อปี (2) อัตราการแยกสลายสารที่อยู่ในสถานะของเหลวด้วยไฟฟ้า (Electrolyser) อยู่ที่ 700 เมกะวัตต์ (3) มียานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน 10,000 คัน และให้ร้อยละ 20 ของยานพาหนะขนส่งขนาดใหญ่ของรัฐบาล นิวเซาท์เวลส์เปลี่ยนไปใช้พลังงานไฮโดรเจน (4) มีเครือข่ายระบบก๊าซผสมร้อยะ 10 (5) ความสามารถในการผลิตพลังงานทดแทน 12 กิกะวัตต์ (6) มีสถานีจ่ายไฮโดรเจน 100 แห่ง (7) ราคาไฮโดรเจนลดลงเหลือต่ำกว่า 2.8 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อกิโลกรัม
.
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้กำหนด 3 เสาพัฒนาโครงการ Green hydrogen ที่จะเป็นกลยุทธ์ที่นำไปสู่การพัฒนาโครงการให้ประสบความสำเร็จตาม road map ที่วางไว้ ได้แก่
.
เสาที่ 1 สร้างปัจจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม (Enable industry development) เป็นขั้นตอนเตรียมความพร้อม ศึกษาค้นคว้า วางแผนด้านการผลิต การจัดเก็บ การขนส่งของไฮโดรเจนในรัฐนิวเซาท์เวลส์ พัฒนาแรงงาน ให้ทุนวิจัยนวัตกรรมใหม่ ๆ กำหนดกฎระเบียบและมาตรฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฮโดรเจน
.
เสาที่ 2 วางรากฐานอุตสาหกรรม (Lay industry foundation) รัฐบาลนิวเซาท์เวลส์จะให้เงิน
.
สนับสนุนโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาปัจจัยสนับสนุนพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมไฮโดรเจนเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต ประกอบด้วยการลงทุนถึง 70 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อสร้างศูนย์กลางไฮโดรเจนที่เขตฮันเตอร์และอิลลาวาร์ร่า (Hydrogen hub initiative) สาธารณูปโภคด้านการผลิตไฮโดรเจน (Hydrogen production infrastructure) และเครือข่ายสถานีเติมไฮโดรเจนและการขนส่งไฮโดรเจน (Hydrogen refuelling corridor)
.
เสาที่ 3 ขยายสเกลอย่างรวดเร็ว (Drive rapid scale) รัฐบาลนิวเซาท์เวลส์มีโครงการสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมไฮโดรเจน โดยลดต้นทุนห่วงโซ่การผลิต เช่น ยกเว้นค่าไฟฟ้า ให้ทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ปรับรูปแบบเพื่อรองรับ Net Zero โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดราคาไฮโดรเจนให้เหลือ 1.33 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อกิโลกรัม ซึ่ง road map นี้จะทำให้รัฐนิวเซาท์เวลส์สามารถติดอันดับ 10% ในกลุ่ม Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ที่มีค่าไฟฟ้าอุตสาหกรรมต่ำที่สุด
.
จากนโยบายดังกล่าว ข้อได้เปรียบที่จะเป็นปัจจัยดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนด้านพลังงานไฮโดรเจนในรัฐนิวเซาท์เวลส์นั้น ได้แก่ การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียที่มีความต้องการพลังงานสูงแล้ว ความพร้อมด้านแหล่งผลิตพลังงานสะอาดที่ราคาถูก มีแหล่งน้ำที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยและพัฒนาระดับโลก แรงงานที่มีทักษะด้านอุตสาหกรรม รวมทั้งมีงบประมาณสนับสนุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตไฮโดรเจนและเทคโนโลยี อีกทั้งยังเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนต่างประเทศในด้านเทคโนโลยีสะอาด เทคโนโลยีเพื่อลดคาร์บอน โดยมีเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุนสูงกว่า 80,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยขณะนี้ ได้เริ่มเจรจากับญี่ปุ่นในเรื่องการร่วมลงทุนด้วยแล้ว
.
สำหรับประเทศไทยเอง ได้มีความพยายามที่จะผลักดันประเทศไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ตามนโยบาย BCG ที่มากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงสามารถใช้โอกาสนี้ในการศึกษาแผนงานดังกล่าวของออสเตรเลียเพื่อนำกลับมาพัฒนาธุรกิจภาคพลังงานในไทย ซึ่งจะเป็นที่ต้องการในอนาคตของประเทศอย่างแน่นอน รวมถึงอาจพิจารณาร่วมลงทุนในโครงการต่าง ๆ ด้าน green hydrogen ของออสเตรเลีย หรือสร้างความร่วมมือในอนาคตกับหน่วยงานในโครงการดังกล่าวของออสเตรเลีย เนื่องจากออสเตรเลียมีการวางแผนงานที่ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนให้สามารถทดแทนการใช้พลังงานรูปแบบเดิมได้ในต้นทุนที่ต่ำ และยังมีนักลงทุนไทยภาคพลังงานมาลงทุนในจำนวนที่น้อยมาก
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์