เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 นาย Scott Morrison นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียแถลงว่า รัฐบาลออสเตรเลียจะส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอวกาศ โดยได้จัดสรรงบประมาณ 65 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย สนับสนุนใน 2 ด้าน ได้แก่ (1) พัฒนาท่าอวกาศยานแห่งใหม่หรือที่มีอยู่รวม 3 แห่ง จำนวน 32.3 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และ (2) จัดสรรงบประมาณ 32.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ให้แก่ Australian Space Agency (ASA) ซึ่งมีศูนย์ Australian Space Discovery Centre และ Australian Space Park Industry Centre ที่รัฐเซาท์ออสเตรเลีย ในการพัฒนาอวกาศยานและให้บริการในภาคอวกาศของออสเตรเลีย
.
อุตสาหกรรมอวกาศเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตเป้าหมาย (National Manufacturing Priorities) 6 ด้าน ภายใต้แผนการปฏิรูปภาคการผลิต (Modern Manufacturing Strategy) ของออสเตรเลีย ประกาศเมื่อตุลาคม 2563 เพื่อขยายกำลังการผลิตและสร้างรายได้ในภาคการผลิตที่ออสเตรเลียมีความสามารถในการแข่งขันหรือมีความสำคัญต่อประเทศ มีกรอบเวลาดำเนินการ 10 ปี ใช้งบประมาณรวม 1,500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และบูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลระดับรัฐ/ดินแดน ภาคอุตสาหกรรม แรงงาน กองทุนการเงิน และภาควิชาการ ซึ่งการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศถือเป็นภารกิจต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี 2561 ออสเตรเลียจัดสรรเงินลงทุนกว่า 800 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย มีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมอวกาศ เป็นเงิน 12,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย คิดเป็น 3 เท่าของมูลค่าอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และสร้างงานเพิ่ม 20,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2573
.
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 รัฐบาลออสเตรเลียประกาศจัดสรรงบประมาณ 20 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ร่วมลงทุนในโครงการ Space Manufacturing Hub มูลค่า 66 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการออกแบบ ผลิต ทดสอบ และจำหน่ายส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับอวกาศยานและดาวเทียม ทั้งนี้ ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้ออสเตรเลียเป็นที่น่าสนใจของบริษัทอวกาศที่กำลังมองหาสถานีปล่อยอวกาศยาน ออสเตรเลียจึงดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
.
สำหรับการร่วมมือระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลีย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ได้พบปะหารือกับผู้แทน ASA 2 ครั้ง โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ GISTDA ในขณะนั้น ได้พบหารือกับ Mr. Karl Rodrigues, Executive Director, International Engagement, ASA ที่กรุงแคนเบอร์ราโดย GISTDA เสนอให้มีการจัดทำกรอบความร่วมมือด้านกิจการอวกาศระหว่างกัน และแสดงความประสงค์ที่จะนำคณะผู้บริหาร GISTDA และ Startup ด้านอวกาศของไทยเดินทางเยือนออสเตรเลีย ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2564 สถานเอกอัครราชทูตได้ประสานให้มีการหารือทางออนไลน์ระหว่างผู้แทน GISTDA และ Ms. Caitlin Caruana, Acting Executive Director, Engagement and Industry Growth, ASA ในการแสวงหาข้อมูลประกอบการจัดทำแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579 เพื่อต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศไทยต่อไป
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์