การใช้กัญชาทางการแพทย์ในออสเตรเลีย ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ที่รัฐบาลกลาง อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย โดยสำหรับรัฐนิวเซาท์เวลส์มีนโยบายส่งเสริมการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้แพร่หลาย เช่น การสนับสนุนผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น สร้างศูนย์การวิจัย Centre for Medicinal Cannabis Research and Innovation เพื่อให้ความรู้ คำปรึกษาด้านกฎระเบียบ และควบคุมดูแลการวิจัยทางการแพทย์ รวมถึงศูนย์ NSW Cannabis Medicines Advisory Service เพื่อให้คำปรึกษาแก่แพทย์ในการออกใบสั่งยา
.
อย่างไรก็ตาม การวิจัยพัฒนายังทำได้ไม่เต็มที่เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมาย ปี 2564 จึงมีการแก้ไข พ.ร.บ. สารเสพติดในหัวข้อการใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยยุบรวมประเภทใบอนุญาตจากเดิมที่มี 3 ประเภท ได้แก่ การเพาะปลูก การผลิต การวิจัย ให้เหลือเพียง medicinal cannabis ประเภทเดียว เพื่อส่งเสริมให้การวิจัยด้านกัญชาทำได้สะดวกขึ้น
.
ยาสกัดกัญชาที่ใช้ในออสเตรเลียมีมากกว่า 100 ชนิด ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น น้ำมันและแคปซูลของเหลว สารระเหย สเปรย์ฉีดพ่นใต้ลิ้น ยาภายนอกผ่านผิวหนัง ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเนื่องจากข้อมูลการวิจัยยังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมีแนวโน้มเข้ารับยาสกัดกัญชาเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี โดยส่วนใหญ่ต้องการใช้ยาเพื่อรักษาอาการเจ็บปวดเรื้อรัง โรควิตกกังวล และโรคนอนไม่หลับ แต่การใช้ยาสกัดกัญชาก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากยาส่วนใหญ่ราคาสูง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และผู้ป่วยไม่สามารถเบิกเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลได้
.
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลท้องถิ่นได้สนับสนุนงบประมาณกว่า 11 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อทำการวิจัยการใช้กัญชาเพื่อบรรเทาและเสริมประสิทธิภาพการรักษา เช่น ช่วยลดอาการชักในเด็ก ป้องกันอาการคลื่นไส้และกระตุ้นความอยากอาหารในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด รวมไปถึงการผลิตกัญชาคุณภาพสูงและสารสกัด Cannabidiol เพื่อลดอาการปวดเรื้อรังในผู้ป่วยที่รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง
.
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 หน่วยงาน Medicines & Healthcare Products Regulatory แห่งสหราชอาณาจักร ได้อนุมัติให้บริษัท Bod Australia ที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ทำการทดลองผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ร่วมกับ Drug Science UK ของสหราชอาณาจักร ว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาอาการข้างเคียงระยะยาว (อาการหายใจติดขัด เหนื่อยล้า ขาดสมาธิ เป็นต้น) หลังจากติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่ โดยปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการทดลองทางคลินิกกับกลุ่มอาสาสมัคร ซึ่งหากสำเร็จ อาจนำไปสู่การผลิตเพื่อจัดจำหน่ายในอนาคต
.
จะเห็นได้ว่าการใช้กัญชาทางการแพทย์ยังเป็นเรื่องใหม่ของทั่วโลกรวมถึงในออสเตรเลีย ซึ่งการทดลอง การวิจัย รวมถึงกำลังการผลิตยังไม่มากพอที่จะทำให้การใช้กัญชาทางการแพทย์เป็นกระแสหลักได้ อย่างไรก็ตาม กัญชายังได้รับความสนใจเรื่องคุณประโยชน์ทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ จึงยังคงมีแนวโน้มการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นต่อไปในระยะยาว ในขณะเดียวกันยังมีความท้าทายในการควบคุมการปลูกกัญชาเพื่อใช้เป็นสารเสพติดอยู่ในปัจจุบัน
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์
.
อ้างอิงเพิ่มเติม
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3141642
https://www.medcannabis.go.th/%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2