ศูนย์ UNSW Centre for Sustainable Material Research and Technology (SMART) ก่อตั้งเมื่อปี 2008 ตั้งอยู่ที่ University of New South Wales โดยศูนย์ SMART ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรม หุ้นส่วนการพัฒนางานวิจัยทั้งในออสเตรเลียและต่างประเทศ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่าง ๆ ตลอดจนรัฐบาลออสเตรเลียทั้งในระดับรัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลประจำรัฐ และ รัฐบาลท้องถิ่น เพื่อแสวงหาแนวทางและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการกำจัดขยะ โดยเฉพาะขยะที่ยากต่อการนำมารีไซเคิลและส่วนใหญ่ถูกขนย้ายไปยังบ่อฝังกลบขยะ ศูนย์ SMART มีชื่อเสียงมาจากการคิดค้นกระบวนการเปลี่ยนแปลงขยะให้กลายเป็นวัสดุและผลิตภัณฑ์ในรูปโฉมใหม่ที่เรียกว่า green materials หลักการในการค้นคว้าวิจัยของศูนย์ฯ คือ การส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภคที่อยู่ปลายทาง เพื่อให้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สามารถออกสู่การจำหน่ายในตลาดได้จริง
.
เทคโนโลยีของศูนย์ SMART
.
- MICROfactorie เป็นเทคโนโลยีที่หลอมรวมส่วนประกอบขนาดเล็กของขยะต่าง ๆ ที่ยากต่อการกำจัดเข้าด้วยกัน เช่น แก้ว ผ้า และพลาสติก ให้กลายเป็นวัสดุและผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ กระเบื้อง (green ceramics) สำหรับงานก่อสร้าง และเส้นใยพลาสติกสำหรับงานปริ้นท์สามมิติ ทั้งนี้ เมื่อปี 2562 ศูนย์ SMART ได้รับการติดต่อจาก บริษัท Mirvac ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของรัฐ New South Wales เพื่อให้ผลิตกระเบื้องดังกล่าวเพื่อใช้ในการตกแต่งอพาร์ตเมนท์
.
- Green Steel เป็นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ศูนย์ SMART โดยร่วมมือกับบริษัท OneSteel นวัตกรรมดังกล่าวเป็นการใช้เทคโนโลยีการฉีดโพลีเมอร์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้ปฏิกิริยาจากที่อุณหภูมิสูงในเตาหลอมอาร์คไฟฟ้าเพื่อผลิตเหล็กกล้า (Electric Arc Furnace: EAF) โดยการหลอมยางรถยนต์หมดอายุและพลาสติกให้กลายเป็นเหล็กที่มีคุณภาพสูง ปัจจุบันนวัตกรรม Green Steel ได้ถูกขายและนำไปใช้ในหลายประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ รวมทั้งประเทศไทย โดยในส่วนของประเทศไทย มี บริษัทมิลล์คอน บูรพา จำกัด ที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์นวัตกรรม Green Steel เพื่อใช้ในโครงการ “Green MILL” ซึ่งเป็นการสร้างเตาหลอมอาร์คไฟฟ้าเพื่อผลิตเหล็กแท่งทรงยาว (Billet) เข้าสู่ตลาด ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เหล็กได้มากยิ่งขึ้น
.
- Material microsurgery เป็นวิทยาศาสตร์การรีไซเคิลที่คิดค้นโดยใช้เทคนิคการเปลี่ยนรูปทรงจากความร้อนแบบเจาะจงไปยังองค์ประกอบตั้งต้นของวัตถุ เพื่อแยกองค์ประกอบหลักที่มีค่าของเสียอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถนำมาใช้ในรูปแบบใหม่ ให้เป็นชั้นไฮบริดที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของพื้นผิวของเหล็ก
.
- Thermal Disengagement Technology (TDT) เป็นเทคนิคการรีไซเคิลแบบ microrecycling เพื่อแยกสสารออกจากขยะบรรจุภัณฑ์โลหะเคลือบโพลีเมอร์ เช่น แคปซูลกาแฟของเนสเปรซโซ่ เพื่อใช้เป็นวัสดุคุณภาพสูงสำหรับการผลิต และลดของเสียตกค้างให้เหลือน้อยที่สุด
.
โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 รัฐบาล New South Wales ได้ประกาศใช้ New South Wales Waste and Sustainable Materials Strategy 2041 ซึ่งเป็นแผนแม่บทเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในห้วง 20 ปีข้างหน้า โดยมุ่งลดปริมาณและจำกัดขยะเหลือใช้ให้เหลือน้อยที่สุดและใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ลดการปล่อยของเสียและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก่อให้เกิดอันตรายให้น้อยที่สุดต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างงานในสาขาที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มขึ้น อันจะช่วยส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม โดยมีเป้าหมายหลักที่สำคัญ ได้แก่ (1) ลดการสร้างขยะลง 10เปอร์เซ็นต์ต่อคน ภายในปี 2030 (2) มีอัตราการหมุนเวียนของเสียให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 (3) เพิ่มการใช้วัสดุรีไซเคิลให้มากขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน (4) กำจัดพลาสติกที่สิ้นเปลืองและย่อยสลายยากให้ได้ภายในปี 2025 (5) ลดปริมาณขยะอินทรีย์ที่จะถูกส่งไปยังบ่อฝังกลบให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 (6) ลดขยะทั่วไปให้ได้ 60 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 และขยะพลาสติกให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2025 และ (7) เพิ่มการรีไซเคิลขยะพลาสติกให้มากขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2030
.
จึงเห็นได้ว่า รัฐ New South Wales ให้ความสำคัญต่อการกำจัดขยะและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยแม้ว่าทางรัฐบาล New South Wales จะไม่เคยประกาศห้ามการใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ประชาชนก็ให้ความร่วมมือพกพาถุงส่วนตัวเมื่อไปซื้อของตามร้านค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต อีกทั้งยังมีการกำหนดถังแยกขยะในพื้นที่สาธารณะทั่วไปและถังแยกชนิดของขยะตามบ้าน เพื่อให้สะดวกต่อการคัดแยกขยะและกำจัดของเสีย นอกจากนี้ ถังขยะเพื่อใช้หมักของเหลือจากมื้ออาหารและขยะเปียกยังเป็นสิ่งที่หาซื้อได้ทั่วไปและเป็นที่นิยมของประชาชนเพื่อใช้เป็นปุ๋ยหมักในการทำสวนได้ต่อไป
.
ผู้ประกอบการไทยในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการประกอบธุรกิจ โดยควรศึกษาประเด็นกลุ่มที่กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายให้ความสำคัญ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการ
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์