รัฐบาล New South Wales จะเริ่มใช้มาตรการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกบางประเภท ซึ่งจะมีผลกับธุรกิจ หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ รวมถึงผู้ที่จัดกิจกรรมการกุศล การกีฬา งานชุมชน และการศึกษา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าและเจ้าของธุรกิจซื้อขายอาหารแบบ takeaway ด้วย โดยผลิตภัณฑ์จากพลาสติกดังกล่าว เป็นพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง (single-use plastics) ซึ่งครอบคลุมถึงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทั้งชนิดชีวภาพ (biodegradable) และ ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ (compostable) เนื่องจากการกำจัดพลาสติกดังกล่าวต้องใช้กระบวนการเฉพาะซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และแม้ว่าจะถูกส่งไปยังหลุมกลบขยะก็ไม่สามารถย่อยสลายได้เอง ซึ่งไม่ต่างจากพลาสติกทั่วไป โดยผลิตภัณฑ์ 5 ชนิดแรกที่ห้ามใช้หรือจำหน่าย ได้แก่
(1) ถุงพลาสติก แต่ไม่รวมถุงที่ใช้ใส่ถังขยะ (bin liners) ถุงผ้าอ้อม ถุงใส่มูลสุนัข ถุงใส่อาหาร/ผักผลไม้สด และถุงใส่ขยะติดเชื้อ (เริ่ม 1 มิถุนายน 2565)
(2) หลอดพลาสติก ช้อนคนกาแฟ และช้อนส้อมมีดพลาสติก (เริ่ม 1 พฤศจิกายน 2565)
(3) จานชามพลาสติก ทั้งนี้ไม่รวมถ้วยพลาสติกที่มีฝาปิดเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซุปหรือน้ำแกงหกออกจากภาชนะ (เริ่ม 1 พฤศจิกายน 2565)
(4) บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟม (เริ่ม 1 พฤศจิกายน 2565)
(5) สำลีก้าน (cotton bud) และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหรือเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของ
ไมโครพลาสติก เช่น สครับผิว ยาสีฟันที่มีผงขจัดคราบ (เริ่ม 1 พฤศจิกายน 2565)
ทั้งนี้ ภาครัฐแนะนำให้ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้นาน และลดการสร้างขยะทดแทน เช่น การใช้ถุงซ้ำ ปฏิเสธการใช้มีด จาน ช้อม ส้อมพลาสติก หรืออาจมองหาเอียร์ซิลิโคนที่ใช้ซ้ำได้แทนสำลีก้าน
ในด้านของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านร้านอาหารที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจประเภทอื่น ๆ เนื่องจากยังคงมีการใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 อยู่ในหลายแห่ง ทำให้ไม่สามารถนั่งทานที่ร้าน อีกทั้งยังมีการงดใช้อุปกรณ์หรือภาชนะร่วมกับผู้อื่น และมีการใช้บริการขนส่งอาหารมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการอาจมองหาการปรับตัวด้วยการงดแจกจ่ายถุงพลาสติก หรืออาจมองหาถุงที่ทำจากวัสดุกระดาษรีไซเคิลมาทดแทน โดยจะให้เมื่อลูกค้าทำการเอ่ยขอถึงจะให้ หรือพิจารณาตามความเหมาะสม ส่วนบรรจุภัณฑ์ประเภทโฟม อาจเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากจากวัสดุเหลือใช้ และเป็นมิตรต่อธรรมชาติทดแทน เช่น บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ไม้ ไผ่ หรือผักตบชวา ที่ไม่มีส่วนประกอบจากพลาสติก ซึ่งนอกจากบรรจุภัณฑ์อาหารแล้ว ผลิตภัณฑ์สาขาอื่น ๆ ต่างควรที่จะต้องปรับตัวไม่แพ้กัน ทั้งด้านบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง ของใช้ รวมถึงสินค้าชั้นนำในห้างสรรพสินค้า เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมทางการตื่นตัวด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
ในกรณีที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการอาจพิจารณาส่งเสริมการนำอุปกรณ์หรือภาชนะมาเอง เช่น แก้วสแตนเลส โดยอาจใช้โปรโมชั่นดึงดูด เช่น การลดราคา สะสมแต้ม หรือมอบสิทธิพิเศษต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่จะสร้างนิสัยและกระตุ้นการลดใช้พลาสติกได้ไม่น้อยเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง