รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลียพบว่า การมีพื้นที่สีเขียวในเมืองจะส่งผลดีมากมายต่อประชากร อีกทั้งยังสร้างผลดีต่อสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมโดยช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพของประชากรที่ยั่งยืนและช่วยลดงบประมาณด้านสาธารณสุขของรัฐบาลในระยะยาว นอกจากนี้ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนต้องการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง Green Infrastructure ยังช่วยขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ยังสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว
.
ด้วยเหตุข้างต้น รัฐนิวเซาท์เวลส์จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนา Green Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว) ที่ประกอบด้วยโครงข่ายพื้นที่สีเขียว ระบบธรรมชาติและกึ่งธรรมชาติ ที่ส่งเสริมให้ชุมชนยั่งยืน ระบบระบายน้ำ ป่า ร่มเงาจากต้นไม้ สนามหญ้า สวนสาธารณะ และพื้นที่โล่งที่ออกแบบอย่างมีระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมือง และให้ความสำคัญกับการพัฒนา Public Space (พื้นที่สาธารณะ) โดยบรรจุอยู่ในนโยบายหลักด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้
.
นโยบาย Greening Our Cities เป็นนโยบายปรับภูมิทัศน์ของเมืองให้ร่มรื่น มีการตั้งเป้าให้ภายในปี 2579 พื้นที่ร้อยละ 40 ของ Greater Sydney กลายเป็นพื้นที่ใต้ร่มไม้ (Tree Canopy) เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของเมือง โดยมีเป้าหมายให้ปลูกต้นไม้เพิ่ม 1 ล้านต้นภายในปี 2565 และ 5 ล้านต้นภายในปี 2573 (ปัจจุบันปลูกไปแล้วกว่า 6 แสนต้น) รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ผ่านโครงการ Everyone Plant One
.
นโยบาย Greener Public Spaces เป็นนโยบายสร้างและปรับปรุงพื้นที่สาธารณะให้ร่มรื่น ปลอดภัย และประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เพิ่มสัดส่วนการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้ภายในรัศมีเดินเท้า 10 นาที ให้แก่ประชาชนในเมืองร้อยละ 10 ให้ได้ภายในปี 2566
.
ในห้วงที่ผ่านมามีโครงการกว่า 100 โครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว เช่น ทางเท้าและทางปั่นจักรยาน สวนสาธารณะ ทางเดินศึกษาธรรมชาติ จุดชมวิว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการย่อยที่ รัฐบาลร่วมมือกับเทศบาล ได้แก่โครงการ Park For Everyone และ Everyone Can Play ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ
.
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ SIMPACT (Smart Irrigation Management for Parks and Cool Towns) ที่เป็นการสร้างเขตภูมิอากาศขนาดย่อม (Microclimate) ภายในสวนสาธารณะ ช่วยให้ประชากรใช้พื้นที่กลางแจ้งได้ในฤดูร้อน และมีโครงการนำนวัตกรรมนี้ไปใช้ในย่านที่มีอุณหภูมิสูงในซิดนีย์ และเมืองในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ที่มีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ โดยโครงการนำร่องนี้ใช้ AI ควบคุมระบบชลประทานผ่านเซ็นเซอร์ 250 ตัวที่ติดตั้งภายในสวน ที่จะนำข้อมูลด้านความชื้นของดิน อุณหภูมิในอากาศ และการพยากรณ์อากาศมาประมวลผลเพื่อสั่งปล่อยน้ำในปริมาณและช่วงเวลาที่เหมาะสม เมื่อพืชได้รับน้ำในปริมาณที่เหมาะสมก็จะเกิดกระบวนการคายน้ำ ซึ่งการคายน้ำจากพืชนี้จะช่วยลดอุณหภูมิได้ถึง 4 องศา เมื่อเปรียบเทียบกับอุณหภูมิของบริเวณโดยรอบ และคาดว่าจะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำในสวนไปได้ร้อยละ 15 ภายใน 2 ปีแรก และนักท่องเที่ยวสามารถค้นหาจุดปิกนิกในสวนที่อากาศเย็นที่สุดผ่านแอปพลิเคชั่นได้
.
จะเห็นได้ว่าภาครัฐของนิวเซาท์เวลส์ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชากรเป็นอย่างมาก โดยมุ่งนำนวัตกรรมและ เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาเมือง รวมทั้งตระหนักถึงบทบาทสำคัญของการบริหารส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ ทำให้โครงการต่าง ๆ ออกมาในรูปแบบของความร่วมมือกันของ รัฐบาล เทศบาล และชุมชน ซึ่งสำหรับประเทศไทยในปัจจุบันยังถือว่ามีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะจำนวนไม่มาก แต่ก็มีการเคลื่อนไหวในการสร้างสวนสาธารณะใหม่ ๆ ในหลายพื้นเช่น สวนป่าเบญจกิตติ ที่กำลังเป็นที่นิยมของคนในเมืองกรุงเช่นเดียวกัน
.
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์