สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian Statistics Bureau: ABS) ได้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจประจําเดือนเมษายน – มิถุนายน 2564 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 สะท้อนโดยรวมว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลายฝ่ายมีความกังวลว่าออสเตรเลียอาจต้องประสบกับสภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง
.
GDP ของออสเตรเลียในช่วงไตรมาสที่ 2/2564 เติบโตร้อยละ 0.7 ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1/2564 (เดือนมกราคม – มีนาคม 2564) ที่เติบโตร้อยละ 1.9 และเมื่อพิจารณาในรอบ 12 เดือน (กรกฎาคม 2563 – มิถุนายน 2564) GDP ออสเตรเลีย เติบโตร้อยละ 9.6 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตของ เศรษฐกิจออสเตรเลียที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจออสเตรเลีย ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากสภาวะถดถอยเมื่อกลางปี 2563 ซึ่ง GDP ออสเตรเลียในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 หดตัวถึงร้อยละ 7 นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของ GDP ประจําไตรมาส 2/2564 ข้างต้นสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 0.4
.
โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ออสเตรเลีย ในไตรมาสที่ 2/2564 มากที่สุด ได้แก่ อัตราการค้า (Terms of Trade – อัตราส่วนราคาสินค้าส่งออกต่อราคาสินค้านําเข้า) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และเป็นอัตราการเพิ่มที่สูงที่สุดของออสเตรเลีย (เป็นผลจากราคาส่งออกสินค้าประเภทแร่ธาตุ โดยเฉพาะแร่เหล็กที่เพิ่มสูงขึ้น) ส่งผลต่ออัตราการเติบโตของ GDP ร้อยละ 3.2
.
อีกทั้ง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนเป็นปัจจัยสําคัญ อีกประการที่ส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ออสเตรเลีย ร้อยละ 1 โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากการใช้จ่ายด้านบริการต่าง ๆ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้จ่ายเพื่อการเดินทางและการท่องเที่ยว เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการข้อจํากัดด้านสังคมในช่วงเดือน เมษายน – พฤษภาคม 2564 และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากการลงทุนด้านที่อยู่อาศัย และการลงทุนทางธุรกิจ อันเป็นผลจากมาตรการสนับสนุนของรัฐ อาทิ โครงการ HomeBuilder วงเงิน 2,500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ช่วยให้เกิดการลงทุนในภาคการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น และโครงการจูงใจด้านภาษีแก่ภาคธุรกิจ โดยการนํามูลค่าสินทรัพย์ที่สามารถหักค่าเสื่อมราคาได้มาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อขอลดหย่อนภาษี ส่งผลให้การลงทุน ซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ของภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่สูงขึ้นมีส่วนช่วยสนับสนุนการลงทุนของธุรกิจเอกชน
.
ปัจจัยสําคัญอีกประการหนึ่งคือ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ได้ส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ออสเตรเลีย ร้อยละ 0.7 โดยการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 สะท้อนถึงการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น เช่น การจัดสรรวัคซีน ส่วนการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ทางรถไฟ และโครงการด้านสาธารณสุขและการศึกษา
.
จะสามารถเห็นได้ว่าแม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และการใช้มาตรการ lockdown ในช่วงไตรมาสที่ 2 ในบางรัฐ เช่น รัฐวิกตอเรีย รัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐควีนส์แลนด์ แต่เศรษฐกิจออสเตรเลียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตของตลาดแห่งนี้ นอกจากนี้ IMF ยังคาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียจะเติบโตขึ้นร้อยละ 4.5 ในปีนี้ และร้อยละ 2.8 ในปี 2565 ซึ่งไทยที่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับออสเตรเลียอยู่แล้ว จะมีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ๆ ในด้านการส่งออก เนื่องจากไทยและออสเตรเลียมีการลดภาษีระหว่างกันเกือบทุกรายการแล้ว โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียมีมูลค่า 8,426 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 34.3% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยไทยส่งออกมูลค่าถึง 5,598 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการใทยในการส่งสินค้าไปยังออสเตรเลีย เพราะถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางรถยนต์ เม็ดพลาสติก อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารแปรรูป