รัฐ New South Wales (NSW) เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย โดยผลผลิตมวลรวมของรัฐฯ (Gross State Product) ในปี 2020-2021 อยู่ที่ 643,145 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ส่วนผลผลิตมวลรวมต่อหัว อยู่ที่ 77,532 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของออสเตรเลีย ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐ NSW ได้ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการผลิตที่ทันสมัย พลังงานทดแทน การศึกษา การท่องเที่ยว ระบบคอมพิวเตอร์และฐานข้อมูลต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการบริการทางการเงิน ทำให้ปัจจุบัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบร้อยละ 80 มาจากงานภาคบริการ (Service Driven Economy) อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อด้านพลังงานของรัฐไม่น้อยทีเดียว
สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่รัฐ New South Wales กำลังเผชิญในปัจจุบัน
วิกฤติราคาน้ำมัน สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีแนวโน้มสิ้นสุด ซึ่งส่งผลต่อราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันของรัฐ NSW ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายนที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ลิตรละ 1.95 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ต่ำสุดที่ 1.75 ดอลลาร์ออสเตรเลีย และสูงสุดที่ 2.17 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ) ซึ่งมาตรการตรึงราคาน้ำมันโดยการลดภาษีน้ำมัน 44.2 เซนต์ต่อลิตรของรัฐบาลชุดเก่าจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2565 วิกฤตนี้จึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ต้นทุนในการขนส่งสูงขึ้นทำให้ราคาเครื่องอุปโภคบริโภคเริ่มปรับตัวสูงตาม ส่งผลให้ค่าครองชีพเพิ่มตาม โดยประเมินว่าหากวิกฤตยืดเยื้อต่อไป หลายธุรกิจอาจจะต้องปิดตัวลงเนื่องจากแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว
วิกฤติด้านพลังงาน ในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ค่าไฟฟ้าและก๊าซได้ ปรับตัวขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2022 สูงสุดถึงร้อยะ 18 จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น
ปัญหาพลังงานฟอสซิล ที่รัฐ NSW ยังพึ่งพาการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นหลัก ปัจจุบันไฟฟ้าในรัฐ NSW ร้อยละ 76 ผลิตจากพลังงานฟอสซิล (ถ่านหินร้อยละ 54 ก๊าซร้อยละ 20 และน้ำมันร้อยละ 2) แต่หลังจากที่รัฐบาลประกาศนโยบายขับเคลื่อนสู่พลังงานสะอาดในอีก 20 ปีข้างหน้า ทำให้อุตสาหกรรมถ่านหินหลายแห่งเตรียมปิดตัวเร็วกว่ากำหนด และไม่มีนโยบายปรับปรุงเทคโนโลยีทำให้การผลิตถ่านหินในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในรัฐ
สถานการณ์สงครามยังทำให้ถ่านหินและก๊าซเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ในปี 2021 รัฐ NSW ส่งออกถ่านหินมากถึง 164 ล้านตัน สูงกว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาถึงร้อยละ 30 โดยเฉพาะถ่านหินคุณภาพสูงของออสเตรเลีย ซึ่งสร้างคาร์บอนต่ำ เป็นที่ต้องการของประเทศที่มีนโยบายลดการปล่อยคาร์บอน ทำให้ราคาพลังงานฟอสซิลในประเทศแปรผันไปตามราคาตลาดโลก นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังส่งออกก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ถึงร้อยละ 74 โดยที่ภายในรัฐไม่มีนโยบายควบคุมการส่งออกก๊าซ จึงทำให้ราคาก๊าซในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก
การพัฒนาพลังงานทดแทนที่ไม่ทันการในปี 2020 ทำให้รัฐ NSW ได้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนสู่พลังงานสะอาด Net Zero Plan (2020-2030) โดยมีเป้าหมายพิชิต Net Zero Emission ก่อนปี 2050 เพื่อดำเนินการตามแผนที่รัฐบาลกลางกำหนดเป้าหมายการปรับสู่การใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 82 ในปี 2030 (ปัจจุบันอยู่ร้อยละ 30) ทำให้ธุรกิจพลังงานฟอสซิลเริ่มลดกำลังการผลิต แต่โครงการด้านพลังงานทดแทนยังพัฒนาอย่างล่าช้า เนื่องจากเป็นโครงการระยะยาวที่ต้องลงทุน วิจัยและทดลอง ปัจจุบันจึงยังไม่มีพลังงานสะอาดเพียงพอที่จะทดแทนพลังงานฟอสซิลที่เริ่มขาดแคลนได้
อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.1 โดยธนาคารกลางคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 ในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มที่อยู่อาศัย (+6.7 %) และเชื้อเพลิงรถยนต์ (+13.7 %)
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาจาการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในช่วงโควิด-19 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.1 ซึ่งต่ำสุดในประวัติศาสตร์ เพื่อกระตุ้นการหมุนเวียนเงินสดในครัวเรือน และภาคธุรกิจ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเร่งกู้เงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทำให้ความต้องการบ้านเพิ่มขึ้น ผนวกกับการอนุมัติการก่อสร้างที่ล่าช้า ราคาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2021 จึงขยับตัวขึ้นสูงตาม
เมื่อเดือนธันวาคม 2020 S&P Global ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของ NSW ในการชำระหนี้ลดลงอยู่ที่ ระดับ AA+ โดยนักวิเคราะห์ได้แสดงความกังวลถึงภาระหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นของรัฐบาล NSW ที่มีภาระหนี้อยู่ประมาณ 117,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา S&P ได้ประเมินว่าจะยังไม่สามารถทำให้งบประมาณ เกินดุลมากพอจนกลับสู่ระดับ AAA ได้ ซึ่งสถานการณ์นี้จะยังดำเนินไปและคาดว่าจะไม่ดีขึ้นจนกว่าปี 2024 – 2035 เนื่องจากรัฐบาลยังคงต้องดำเนินมาตรการ ช่วยเหลือประชาชนด้านรายจ่ายอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น ช่วยค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน
แนวทางการแก้ปัญหาของภาครัฐ
(1) เพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อ ธนาคารกลางได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.35 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และปรับเป็นร้อยละ 0.85 ในเดือนมิถุนายน เพื่อชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการปรับที่มากที่สุดในรอบ 12 ปี และคาดว่าจะปรับขึ้นอีกจนถึงร้อยละ 4 ภายในปีหน้า และหวังว่าจะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อให้เหลือร้อยละ 2-3
(2) รัฐ NSW ได้ประกาศโครงการบรรเทาปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น โครงการส่วนลดค่าไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ โดยลดค่าไฟฟ้า และค่าก๊าซได้มากถึง 1,600 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อครัวเรือน โครงการจูงใจให้ติดตั้งโซลาร์เซลล์หรือเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นรุ่นประหยัดพลังงานแทนเงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับผู้เกษียณอายุแล้ว
(3) เพื่อรับมือกับสภาพเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน Fair Work
Commission ได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 20.33 ดอลลาร์ออสเตรเลีย/ชั่วโมง เป็น 21.38 ดอลลาร์ออสเตรเลีย/ชั่วโมง (ร้อยละ 5.2) และจะปรับขึ้นค่าแรงอีกร้อยละ 4.6 สำหรับแรงงานฝีมือ
อย่างไรก็ตาม หอการค้าออสเตรเลียได้แสดงความกังวลถึงการขึ้นค่าจ้างในอัตราดังกล่าว ว่าจะสร้าง ภาระเพิ่มขึ้นต่อภาคธุรกิจถึง 7,900 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องเลือกที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายหรือส่งต่อไปยังผู้บริโภค
โดยสรุป ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่รัฐ NSW กำลังประสบอยู่มาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกและเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกันหลายประเด็น รัฐบาลกลางซึ่งดูแลภาพรวมด้านเศรฐกิจจะต้องเป็นผู้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาปัญหา ถึงแม้ออสเตรเลรยจะมีขนาดเศรษฐกิจอยู่ที่อันดับ 13 ของโลก โดยมีรายได้หลักคือ การส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ แต่ดัชนีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจในปี 2020 อยู่ที่อันดับ 74 ซึ่งหมายความว่าความหลากหลายของสินค้าอยู่ในระดับต่ำ ทำให้วิกฤติด้านพลังงานจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างง่ายดาย ซึ่งปัจจุบันรัฐบาล NSW พยายามเร่งดำเนินมาตรการบรรเทาปัญหาค่าครองชีพในระยะสั้น และถ้าวิกฤตินี้ยังยืดเยื้ออยู่ก็อาจสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับเศรษฐกิจของรัฐ