ไม่นานมานี้ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ได้ออกนโยบายขับเคลื่อนรถไฟฟ้า (electric vehicle) หรือรถ EV ให้เป็นยานพาหนะแห่งอนาคต เพื่อแก้ปัญหาพลังงาน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมถึงสร้างงานให้กับประชาชน
ในปี ค.ศ. 2022 จํานวนรถ EV ภายในรัฐนิวเซาท์เวลส์ มีจํานวนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคมของปี ค.ศ 2021 โดยปัจจุบันนิวเซาท์เวลส์ มีจํานวนรถ EV 13,000 คัน แบ่งเป็นทั้งหมด 34 รุ่น มีสถานีชาร์จไฟฟ้า 120 แห่งที่มีกําลังไฟมากกว่า 50 กิโลวัตต์ และยังมีแผนเพิ่มสถานีชาร์จไฟเพิ่มเป็น 250 แห่ง นอกจากนี้รัฐบาลยังมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะของรัฐบาลครึ่งหนึ่งให้เป็นรถ EV ภายในปี ค.ศ. 2026 และเปลี่ยนเป็นรถ EV ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 และตั้งเป้าให้รถยนต์ใหม่ส่วนใหญ่ในท้องตลาดเป็นรถ EV ภายในปี ค.ศ. 2035
นโยบายสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถ EV ของรัฐบาลใช้งบประมาณกว่า 595 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ในการลงทุนผ่านแนวทางและโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ส่วนลดราคา 3,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย สําหรับผู้ที่ซื้อรถ EV ที่ราคาต่ำกว่า 68,750 ดอลลาร์ออสเตรเลีย จำนวน 25,000 คันแรก หรือการงดค่าอากรแสตมป์ (stamp duty) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2021 สําหรับรถ EV ที่ราคาต่ำกว่า 78,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย และการให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ใช้รถ EV ให้สามารถใช้ช่องเดินรถ T2 และ T3 ซึ่งจํากัดจํานวนผู้โดยสาร 2 คน และ 3 คน ได้ จนถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 2022 รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณ 105 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อช่วยธุรกิจเอกชน และหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกําไรสําหรับการประมูลเพื่อเปลี่ยนรถยนต์ขององค์กรให้เป็นรถ EV
ในส่วนของการพัฒนาสาธารณูปโภคด้านการชาร์จไฟฟ้า จะมีการขยายโอกาสในการใช้รถ EV ให้ประชาชนในรัฐพื้นที่ห่างไกล และส่งเสริมให้ผู้ใช้รถ EV เดินทางไปได้ทั่วรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว โดยลงทุน 171 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในการสร้างสถานีชาร์จไฟด่วน (ultra-fast charging stations) ผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่ EV Super-Highways ที่มุ้งเป้าสร้างสถานีชาร์จไฟด่วนทุก ๆ 100 กม. กระจายทั่วทั้งทางด่วนสายหลักของรัฐ โครงการ EV Commuter Corridor เพื่อสร้างสถานีในรัศมีทุก ๆ 5 กม. ทั่วนครซิดนีย์ และโครงการ EV off-street parking chargers ที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจสร้างสถานีชาร์จไฟด่วน
รัฐนิวเซาท์เวลส์ได้บรรจุนโยบายสนับสนุนการใช้รถ EV เพื่อรับกับยุทธศาสตร์การลดการปล่อยคาร์บอนของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลรุนแรงต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งประเทศไทยก็ได้มีการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนลงร้อยละ 20-25 ภายในปี ค.ศ. 2030 ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ไทยยังมีเป้าหมายการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอัตราร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศภายในปี 2573 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน และสามารถใช้แนวทางของรัฐนิวเซาท์เวลส์ในการพัฒนาสาธารณูปโภคด้านการชาร์จไฟฟ้าและการออกนโยบายสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเพิ่มเติมในอนาคต