ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือที่รู้จักกันจากตัวย่อภาษาอังกฤษว่า RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศภาคีความตกลง 15 ประเทศรวมทั้งไทย เริ่มมีผลใช้บังคับสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 หลังจากที่ใช้เวลากว่า 8 ปี ในการเจรจา ปัจจุบัน ความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก ครอบคลุมประชากรและกลุ่มประเทศที่มี GDP รวมกันราวหนึ่งในสามของโลก แน่นอนว่าความตกลงดังกล่าวย่อมจะช่วยให้ภูมิภาคของเราที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มาอย่างหนักหน่วงให้สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
.
สำหรับไทย ปริมาณการค้าของไทยกว่าครึ่งนั้นพึ่งพาตลาดขนาดใหญ่ของประเทศภาคีความตกลง RCEP ดังนั้นไทยจึงได้ประโยชน์จาก RCEP โดยตรง โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าสู่ตลาดและการจ้างงานของภาคธุรกิจและประชาชนในภูมิภาค ทั้งนี้ ผลการศึกษาจาก TDRI คาดว่า GDP ของไทยจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4 จากการเข้าร่วม RCEP
.
นอกเหนือจากการเปิดตลาดให้ผู้ประกอบการไทยสามารถค้าขายและลงทุนได้กว้างขวางมากขึ้นแล้ว RCEP ยังมีสิ่งดีดีอีกหลายอย่างที่หลายคนอาจยังไม่รู้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
.
การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce)
RCEP มีเป้าหมายหลักในการปรับกฎเกณฑ์ด้าน e-Commerce ของประเทศภาคีความตกลงให้สอดคล้องกัน เพื่อส่งเสริมการใช้ e-Commerce ข้ามพรมแดนให้มากขึ้นโดยครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์และลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ การป้องกันการส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์เชิงพาณิชย์ที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ประเทศภาคีความตกลง RCEP จะไม่จัดเก็บอากรศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนระหว่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการทำงานเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขององค์การการค้าโลก หรือ WTO
.
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
ความตกลงการค้าเสรียุคใหม่มักครอบคลุมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในการค้าระหว่างประเทศซึ่งกำลังทวีมูลค่าสูงมากในปัจจุบัน บทที่ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ RCEP กำหนดการคุ้มครองดังกล่าวในระดับสูง โดยให้มีการคุ้มครองและเยียวยาทางกฎหมายที่เพียงพอต่อการปกป้องเจ้าของผลงานจากการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนกระบวนการและโทษทางอาญาสำหรับการทำซ้ำซึ่งงานภาพยนตร์ในขนาดเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต
.
การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงวิสาหกิจรายย่อย ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ การจ้างงาน และนวัตกรรม และยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก ดังนั้น ประเทศภาคีความตกลง RCEP จึงกำหนดให้มีการส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับ SMEs มีช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงได้ ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ SMEs รวมถึงข้อมูลทางธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของ SMEs ให้สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่า (Global Value Chains) ในเรื่องนี้ อาเซียนค่อนข้างได้เปรียบ เพราะปัจจุบันมีกลไกในอาเซียนที่ช่วยสนับสนุน SMEs ให้สามารถใช้ประโยชน์จาก RCEP ได้ อาทิ ASEAN Trade Repository ซึ่งเป็นคลังข้อมูลทางการค้าที่สำคัญของภูมิภาค ASEAN SMEs Academy ซึ่งเป็นช่องทางสำหรับเข้าถึงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของ SMEs
.
การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเพื่อการเติบโตและพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน แต่ที่ผ่านมา ความตกลงการค้าเสรีที่อาเซียนทำกับประเทศต่าง ๆ ไม่ได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ โดยที่ประเทศภาคีความตกลง RCEP ตระหนักว่าการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาค ความตกลง RCEP จึงระบุให้มีการจัดทำกฎระเบียบเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค
.
จะเห็นได้ว่า ความตกลง RCEP เป็นความตกลงที่ทำขึ้นให้ทันสมัย ครอบคลุม มีคุณภาพสูง เพื่อให้ประเทศภาคีได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง ผู้ประกอบการจากหลายภาคส่วนในไทยจะได้รับประโยชน์จากความตกลงนี้ เช่นในเรื่องการส่งเสริม e-Commerce ดังนั้นผู้ประกอบการควรดำเนินธุรกิจโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อความสะดวกต่อการค้าขายข้ามพรมแดนในอนาคต
.
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ RCEP สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการ RCEP www.rcepsec.org และเว็บไซต์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th
.
คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา