ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ การพาณิชย์ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งในปัจจุบันอาเซียนมีความสำคัญและมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
1. การปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน – บริษัทต่าง ๆ พยายามหาศูนย์กลางการผลิตใหม่เพื่อเชื่อมห่วงโซ่อุปทานให้กระจายตัวมากขึ้น ซึ่งอาเซียนเป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมเพราะมีตลาดที่หลากหลายแต่ส่งเสริมกันและกัน (Diverse yet complementary markets) โดย ณ ปัจจุบัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ได้ประโยชน์จากการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment – FDIs) ในมาเลเซียและอินโดนีเซียที่เพิ่มมากขึ้นและทำลายสถิติสูงที่สุดเมื่อปี 2564 และไตรมาสแรกของปี 2565 ตามลำดับ
2. การเติบโตทางเศรษฐกิจและปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย– อาเซียนมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่โดยมี GDP รวมกันกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสี่ของโลกภายในปี 2573 เนื่องด้วยขนาดของประชากรอาเซียนที่มากถึง 660 ล้านคน ปัจจัยประการนี้เอื้อต่อการเติบโตของอาเซียน ในด้านการมีประชากรวัยทำงานจำนวนมากที่มีขีดความสามารถทางดิจิทัล และมีความมั่งคั่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น อาเซียนจึงมีศักยภาพด้านอุปสงค์และแรงงานที่หลากหลายที่สามารถสนับสนุนต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคต
3. การเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีพหุภาคี – อาเซียนมีความตกลงการค้าเสรีพหุภาคีกับคู่ค้าต่าง ๆ เช่น จีน สหภาพยุโรป อินเดีย และสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงข้อตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งส่งผลให้อาเซียนสามารถเข้าถึงตลาดใหญ่ ๆ ของโลกได้ โดยอาเซียนเป็นพื้นที่ที่บริษัทจากจีน ยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกานิยมลงทุนเพื่อเชื่อมต่อและเข้าถึงตลาดประเทศอื่น อาทิเมื่อปี 2563 การไหลเข้าของเงินลงทุนทางตรงจากสหรัฐอเมริกา มาอาเซียนทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
4. ความมุ่งมั่นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน – อาเซียนตั้งเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้สูง รวมถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) โดยภาครัฐและภาคเอกชนมีความร่วมมือเพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์การเติบโตที่ยั่งยืน เช่น โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอน Climate Impact X (CIX) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยธนาคาร Standard Chartered ธนาคาร DBS ตลาดหลักทรัพย์ในสิงคโปร์ และ Temasek
5. การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล – อาเซียนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบูรณาการให้ SMEs เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก นอกจากนี้ ยังส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสนับสนุนการเติบโตสีเขียว เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ Cirata Floating Photovoltaic ที่เมือง Purwakarta อินโดนีเซีย หากโครงการนี้สำเร็จจะสามารถถ่ายทอดพลังงานไฟฟ้าให้แก่ 50,000 ครัวเรือน ซึ่งจะสามารถทดแทนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้มากถึง 214,000 ตัน เช่นเดียวกัน
ดังนั้น ปัจจัยข้างต้นจึงสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทเชิงบวกของอาเซียน ในฐานะภูมิภาคแห่งโอกาสที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าวในการร่วมมือกับภาคเอกชนและภาครัฐในอาเซียน เพื่อผลักดันและส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างมีส่วนร่วมร่วมกันในอนาคต่อไป