ขณะนี้ ยูเออีกำลังให้ความสําคัญกับการส่งเสริมการดําเนินเศรษฐกิจให้หลากหลาย และมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการพึ่งพาน้ํามัน โดยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลแทน จึงได้มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมกับการสร้างสาธารณูปโภคและสภาพแวดล้อมที่พร้อมสําหรับดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศเข้ามายังยูเออี ซึ่งที่ผ่านมา เศรษฐกิจดิจิทัลของยูเออีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4 ของอัตราการเติบโตของ GDP ประเทศ (ประมาณ 1 แสนล้านดีแรห์ม หรือประมาณ 9 แสนล้านบาท) และมีแผนส่งเสริมการลงทุนในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนของสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของประชาชนเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ ยูเออียังสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้ในอัตราที่สูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ในปี 2564 จากปัจจัยด้านความพร้อมในการอํานวยความสะดวกด้านต่าง ๆ แก่นักลงทุน ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง
.
สำหรับประเทศไทยเอง ให้ความสําคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างนวัตกรรมการผลิตและการบริการ อีกทั้งยังมีนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยพัฒนา Thailand Digital Valley โดยส่งเสริมความร่วมมือและการดําเนินการร่วมกันระหว่างภาคเอกชน ภาคการศึกษา สถาบัน และภาครัฐ เพื่อสร้าง Digital Ecosystem และแพลตฟอร์มเปิดสําหรับสตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศ
.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ Dr. Thani bin Ahmed Al Zeyoudi รัฐมนตรีแห่งยูเออีผู้รับผิดชอบด้านการค้าระหว่างประเทศได้เสนอการจัดทํา Comprehensive Economic Partnership Agreement (CEPA) ระหว่างยูเออีกับไทย โดยที่ผ่านมา ยูเออีได้บรรลุการเจรจาและจัดทําความตกลงดังกล่าวกับอินโดนีเซียแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทํากับอินเดีย ซึ่งการที่ยูเออีเสนอจัดทําความตกลง CEPA กับไทย นับเป็นโอกาสดีที่สำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากจะได้รับประโยชน์จากการระบายสินค้าต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าทางการ เกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งการที่ยูเออีเป็นประเทศศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์นั้น จะช่วยให้สามารถกระจายสินค้าไทยไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ทั้งกับประเทศที่ยูเออีมีความตกลงด้านการค้าระหว่างกันอยู่แล้ว และกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามสถานะความตกลงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยระหว่างนี้ อาจพิจารณาใช้จุดเด่นของสตาร์ทอัพไทยด้านดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีทางการเงิน เทคโนโลยีด้านสุขภาพ หรือเทคโนโลยีด้านการศึกษาออนไลน์ ในการตีตลาดดิจิทัลของยูเออี ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่ความก้าวหน้าของไทยไปด้วยอีกทางหนึ่ง
.
นอกจากด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยูเออีมุ่งเน้นในการพัฒนาและส่งเสริมแล้ว ยูเออีได้ตั้งเป้าหมายในการเป็นประเทศที่มีดัชนีความมั่นคงทางอาหารอันดับ 1 ของโลกภายในปี 2594 โดยให้ความสําคัญกับการพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเพิ่มและพัฒนาการผลิต ซึ่งยูเออีเป็นคู่ค้าที่สําคัญของไทยในตะวันออกกลาง ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีสินค้าอาหารผลิตผลทางการเกษตรที่หลากหลายในการสนับสนุนให้ยูเออีบรรลุยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้เป็นอย่างดี
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี