ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ของรัฐอาบูดาบีในปี 2563
.
ภาพรวมมูลค่าการทําธุรกรรมในภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐอาบูดาบีในปี 2563 มีมูลค่าคิดเป็นเงินไทยประมาณ 6 แสนล้านบาท มียอดรวมทั้งหมด 19,000 รายการ จากอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดิน ตึก และอพาร์ทเม้นท์ โดยแบ่งรายได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) การทําธุรกรรมประเภทการซื้อ-ขาย จํานวน 8,000 รายการ มีมูลค่า 2.47 แสนล้านบาท และ (2) การทําธุรกรรมประเภทการจํานอง จํานวน 11,000 รายการ มีมูลค่า 3.63 แสนล้านบาท
.
ส่วนพื้นที่ที่ได้รับความนิยมในการซื้อ-ขายมากที่สุด ได้แก่ (1) เขต Khalifa City มูลค่าการซื้อขาย 2.9 หมื่นล้านบาท (2) เขต Yas Island มูลค่าการซื้อขาย 2.7 หมื่นล้านบาท (3) เขต Reem island : มูลค่าการซื้อขาย 2.4 หมื่นล้านบาท
.
ราคาโดยเฉลี่ยของอพาร์ทเม้นท์ในรัฐอาบูดาบี ในปี 2563 มีอัตราลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 3.8 และมีอัตราการเช่าอาศัยลดลงร้อยละ 4.8 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด
.
แนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์ของอาบูดาบีในปี 2564
.
สถานการณ์ของภาคอสังหาริมทรัพย์รัฐอาบูดาบีในปี 2564 อยู่ในสภาวะปริมาณอุปทานล้นตลาด (oversupply) เนื่องจากมีปริมาณอสังหาริมทรัพย์ที่ดําเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้น และรอการส่งมอบเป็นจํานวนมากกว่า 7,000 ยูนิต (อพาร์ทเม้นท์ประมาณ 5,200 แห่ง และวิลล่า/ทาวน์เฮ้าส์ประมาณ 900 แห่ง โดยเฉพาะในเขต Al Reem Island Al Raha Beach และ Yas Island ซึ่งแหล่งที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทวิลล่าเกิดขึ้นหลายโครงการ) แต่มีความต้องการน้อย (demand) เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดส่งผลให้เกิดการยกเลิกการจ้างงาน และมีชาวต่างชาติจํานวนมากที่เคยอาศัยในรัฐอาบูดาบีต้องเดินทางกลับประเทศ
.
จากสภาวะชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลให้เจ้าของหรือผู้ให้เช่าที่อยู่อาศัย ต้องปรับตัวและหากลยุทธ์ใหม่เพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น การยกเว้นค่าเช่าในระยะเวลาที่กําหนด (rent-free period) และ การยืดหยุ่นสําหรับการชําระค่าเช่า และมีแนวโน้มที่ผู้เช่าหรือผู้อยู่อาศัยจะปรับเปลี่ยนลักษณะการเช่าที่พักอาศัยจากตึกอพาร์ทเม้นท์เป็นที่พักประเภทวิลล่าที่มีบริเวณและพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน และใช้พื้นที่หรือสิ่งอํานวยความสะดวกร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19
.
การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในปี 2563 ส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของรัฐอาบูดาบีให้มีการลงทุน และ การเช่าที่ลดลง หากแต่มีห้องเช่าที่ว่างมากขึ้น และส่งผลต่อผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างมาก เช่นเดียวกับผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ผู้เช่าอาศัยต้องกลับภูมิลำเนา หรือขาดรายได้จนต้องย้ายที่อยู่อาศัย รวมทั้งชาวต่างชาติที่ไม่สามารถมาพักอาศัย หรือเดินทางมาได้ ดังนั้นภาครัฐและผู้ประกอบการไทยด้านอสังหาริมทรัพย์สามารถศึกษาแนวทางจากภาคอสังหาริมทรพย์ในรัฐอาบูดาบี เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ส่วนบุคคลและเชิงพาณิชย์ การเช่าอสังหาริมทรัพย์สำหรับประชากร ธุรกิจประเภท SME และ Startup โดยภาครัฐ หรือ การยกเว้นค่าเช่า การลดค่าเช่า หรือการยืดหยุ่นในการเช่าที่อยู่อาศัยสำหรับผู้อาศัย
.
จากบทความข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นโอกาสในการลงทุนด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรัฐอาบูดาบีเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบัน อุปสงค์ของอสังหาริมทรัพย์ในรัฐดังกล่าวค่อนข้างต่ำ ทำให้ราคาของอสังหาริมทรัพย์อยู่ในราคาที่ถูกลง ซึ่งผู้ประกอบการอาจศึกษาและพิจารณาเข้าซื้อหรือลงทุน เพื่อรอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น และเศรษฐกิจฟื้นตัวตามลำดับ และจะส่งผลทำให้อุปสงค์ของอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น จนทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสในการเก็งกำไร เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย สถานที่ประกอบการได้ในอนาคตหลังมีการเปิดประเทศ ซึ่งจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยว หรือผู้เดินทางได้ในจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีประเทศในภูมิภาคที่น่าลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว และกัมพูชา ซึ่งมีแนวโน้มในการเติบโตในอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างสูง และมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย ดังนั้น ผู้ลงทุนหรือผู้ที่สนใจในด้านอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศยังสามารถศึกษาแนวทางและกฎระเบียบของประเทศเหล่านี้เพิ่มเติมด้วย
.
สอท. ณ กรุงอาบูดาบี