หน่วยงานของรัฐอาบูดาบี Abu Dhabi’s Waste Management Center (Tadweer) วางแผนนำน้ำมันที่เหลือทิ้งในครัวเรือนและร้านอาหารกลับมาใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในต้นปี 2565 โดยโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากสิ่งเหลือใช้ในครัวเรือนครั้งนี้เป็นการนำขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์ซึ่งจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยลดปริมาณขยะลง นอกจากนั้น เชื้อเพลิงชีวภาพที่ได้ยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการบิน และยังช่วยลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนลงได้อีกด้วย ขณะนี้มีสายการบิน British Airways ที่เริ่มใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในการบิน และหลายสายการบินได้ทำการทดลองบินโดยใช้เชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว เช่น สายการบิน Etihad Airways สายการบิน Air France สายการบิน Air New Zealand และสายการบิน KLM
.
ภายในปี 2573 หน่วยงานของรัฐอาบูดาบีตั้งเป้าหมายในการนำขยะมารีไซเคิลให้ได้ร้อยละ 80 ของขยะทั้งหมดและบำบัดของเสียอันตรายให้ได้ร้อยละ 100 ซึ่งขยะในรัฐอาบูดาบีมีจำนวน 2.5 ล้านตัน/ปี โดยเป็นขยะจากประเภทอาหารร้อยละ 25-30 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยกำจัดขยะได้ประมาณ 600,000 ตัน/ปี นอกจากนั้น ยังได้วางแผนกำจัดขยะเพิ่มเติมให้ได้ 800,000 ตัน/ปี ในเขตกรุงอาบูดาบี และ 350,000 ตัน/ในเขตเมืองอัลเอน เมืองใหญ่ในรัฐอาบูดาบี
.
สำหรับประเทศไทยนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG Economy Model) เป็นอีกวาระแห่งชาติที่รัฐบาลไทยกำลังผลักดันอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกในการเร่งฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19 ดังนั้นผู้ประกอบการควรติดตามพัฒนาการธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับตัวให้ทันกับแนวโน้มโลกที่กำลังเปลี่ยนไป โดยภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถศึกษารูปแบบการผลิตและการต่อยอดเชื้อเพลิงชีวภาพที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานของรัฐอาบูดาบีได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคตได้
.
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูดาบี