ปัจจุบัน การใช้พลังงานนิวเคลียร์ของไต้หวัน ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงระหว่างพรรคฝ่ายค้าน – ฝ่ายรัฐบาล โดยพรรคฝ่ายค้านมีข้อเรียกร้อง 2 ประการ ได้แก่
(1) ให้รัฐบาลระงับการปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โรงสุดท้าย สภานิติบัญญัติไต้หวันได้ผ่านกฎหมายเพื่อขยายอายุการใช้งานโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในไต้หวันจาก 40 ปี เป็น 60 ปี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 พรรค KMT ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านและครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติไต้หวัน ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไต้หวันระงับการสั่งปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Ma-anshan ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โรงสุดท้ายที่ยังใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
(2) ให้รัฐบาลไต้หวันยกเลิกนโยบายปลอดนิวเคลียร์ (nuclear- free homeland) โดยระบุว่า การใช้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Ma-anshan ต่อไป แม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 900 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มได้ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ไต้หวัน (6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลมีท่าทีต่อการใช้พลังงานนิวเคลียร์ โดยยืนยันหนักแน่นต่อการปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Ma-anshan และให้เหตุผลว่า รัฐบาลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจเรื่องการปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ได้วางแผนไว้แล้วอย่างกะทันหันได้ เนื่องจากมีระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป และจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ถึงแม้ว่าสภานิติบัญญัติไต้หวันได้ผ่านร่างกฎหมายการขยายอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ออกไปอีก 20 ปีก็ตาม
นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Ma-anshan ไม่มีพื้นที่เพียงพอในการกักเก็บและบําบัดของเสียจากการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ ขณะที่การสร้างสถานที่กักเก็บของเสียใหม่ต้องใช้งบประมาณอีกกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ไต้หวัน (1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) อีกทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Ma-anshan ยังผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงร้อยละ 4 ของพลังงานไฟฟ้าของไต้หวันทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานไฮโดรเจนที่มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ราวร้อยละ 27 กอปรกับ Taipower คาดการณ์ว่า ในปี 2575 ไต้หวันจะไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนพลังงาน ถึงแม้ว่าจะมีความต้องการใช้พลังงานในปริมาณมากจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI ในไต้หวัน
ข้อมูล: สํานักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์