.
เมื่อปี 2567 GDP เวียดนามขยายตัวที่ร้อยละ 7.1 อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกโดยเฉพาะการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และการบริโภคภายในประเทศ การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวก็เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง และธนาคารโลกคาดการณ์ว่าในปี 2568 เวียดนามจะประสบปัญหาจากแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กระแสเงินทุนที่ลดลง รวมทั้งการเติบโตของการส่งออกที่คาดว่าจะชะลอตัวลง
เนื่องจากความต้องการนำเข้าของคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ สภาพยุโรป และจีน มีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้กระทบต่อภาคการผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มชะลอตัวในอีก 2 ปีข้างหน้า ทำให้คาดการณ์ว่า GDP ในปี 2568 และ 2569 จะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6.8 และ 6.5 ตามลำดับ
ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลกได้แนะนำว่ารัฐบาลเวียดนามควรดำเนินนโยบายคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เพียงแต่เร่งการเบิกจ่ายเงินทุนของภาครัฐ แต่ยังต้องมุ่งเน้นในการเพิ่มคุณภาพของการลงทุนภาครัฐที่ยังมีช่องว่างในการพัฒนาอีกมาก นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในการขยายหนี้สาธารณะเพื่อสนันสนุนการพัฒนาโดยเฉพาะในภาคโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม พลังงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยรัฐบาลสามารถส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจได้โดยการนำเนินนโยบายการลงทุนภาครัฐที่เหมาะสม ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของภาคเอกชน และรัฐบาลเวียดนามควรติดตามสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดและดำเนินนโยบายการเงินการคลังด้วยความระมัดระวัง
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังย้ำถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว เนื่องจากเวียดนามมีเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในภาคส่วนสำคัญที่คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้ ทำให้เวียดนามต้องให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคการขนส่ง รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านระบบไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น และการจัดตั้งเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างทั่วถึงภายในทศวรรษหน้า เพื่อรรองรับการขยายตัวของกราใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2578