รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดทำยุทธศาสตร์ดิจิทัลแห่งชาติประจำปี 2568 (Digital Strategy 2025) ซึ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและหลักประชาธิปไตยจากความเสี่ยงของ AI ควบคู่กับการส่งเสริมนวัตกรรมและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ เชื่อว่าการผลักดันกฎระเบียบดังกล่าว ได้รับอิทธิพลจากการเตรียมบังคับใช้กฎหมาย AI Act ของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งที่ผ่านมาสวิตฯ ประสบความสำเร็จในการออกแบบกฎหมายด้านเทคโนโลยีมาแล้ว เช่น กฎหมายว่าด้วยสกุลเงินคริปโท (Cryptocurrency law) ซึ่งได้รับการยอมรับในสากล
รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์มีแผนออกกฎหมายเพื่อควบคุมแพลตฟอร์มโซเชียลรายใหญ่ อาทิ Google, Facebook, Youtube, X โดยคาดว่าจะเปิดเผยรายละเอียดในช่วงต้นปีนี้ ทั้งนี้ แม้ว่าสื่อโซเชียลมีบทบาทในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และความบันเทิง แต่ก็เป็นช่องทางเผยข่าวปลอม ภาพและวิดีโอที่ถูกบิดเบือน (deepfakes) ข้อมูลเท็จ รวมถึงการปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังและความรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อ AI ถูกนำมาใช้เพื่อดึงดูดความสนใจและมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งก่อนหน้านี้ EU ผ่านกฎหมาย Digital Services Act และ Digital Markets Act (DMA) เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิก เรียกร้องให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีมาตรการป้องกันเนื้อหาที่อันตราย นอกจากนั้น EU เรียกร้องให้บริษัท Meta จะต้องจัดส่งรายงานการประเมินความเสี่ยงให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณก่อนหากจะยุติโครงการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-checking program) ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าวได้ถูกยุติแล้วในสหรัฐฯ


เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2568 สวิตฯ อนุญาตให้ใช้รถยนต์ไร้คนขับในถนนที่กำหนดเฉพาะในบางรัฐ แต่ยังต้องมีผู้ขับขี่อยู่หลังพวงมาลัยตลอดเวลา และอนุญาตเฉพาะรถที่มีการเฝ้าระวังจากผู้ควบคุมภายนอกเท่านั้น ทั้งนี้ รถยนต์ไร้คนขับสามารถลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งกว่า 95% เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มการเข้าถึงระบบขนส่งให้กับผู้สูงอายุและผู้พิการ อย่างไรก็ดี รถยนต์ดังกล่าวยังไม่เหมาะที่จะขับขี่บนถนนในเมืองที่มีผู้คนพลุกพล่านและมีความไม่แน่นอนสูง โดยศาสตราจารย์ Wade เห็นว่า สวิตฯ ควรเพิ่มการลงทุนและส่งเสริมความร่วมมือกับบริษัทด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนารถยนต์ไร้คนขับมากยิ่งขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ และจีนพัฒนาด้านนี้อย่างก้าวกระโดด และเริ่มให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับ (robotaxi) ด้วยแล้ว
อีกทั้ง สวิตเซอร์แลนด์เดินหน้าพัฒนา LLMs ภายใต้โครงการ Swiss AI Initiative โดยแตกต่างจากโมเดลแบบ ChatGPT ซึ่งออกแบบให้ใช้งานได้ทั่วไป LLMs ของสวิตฯ เน้นการใช้งานเฉพาะทางในสาขาที่ประเทศมีศักยภาพ เช่น วิทยาศาสตร์ การศึกษา การแพทย์ หุ่นยนต์ และการศึกษาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งโครงการนี้ริเริ่มโดยสถาบัน ETH Zürish เพื่อลดการพึ่งพาระบบ AI ที่พัฒนาและควบคุมโดยบริษัทเอกชนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ล่าสุดมีการพัฒนาโมเดลต้นแบบด้านการแพทย์สำเร็จแล้ว และมีแผนที่จะเปิดตัวโมเดลเพิ่มเติมในสาขาอื่นภายในปีนี้ เช่น ชีวเวทศาสตร์ และอุตุนิยมวิทยา ซึ่งนาย Antoine Bosselut จากสถาบัน EPFL โลซาน เห็นว่าสวิตฯ มีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรที่มีคุณภาพ จึงมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในสาขาที่มีความสำคัญต่อสังคมและสอดคล้องกับค่านิยมของประเทศ อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ Wade เห็นว่า โครงการ Swiss AI Initiative อาจยังไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม AI ได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการพัฒนา LLMs ขนาดใหญ่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากและการลงทุนมหาศาล ซึ่งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ได้ดำเนินการไว้นานแล้ว ทำให้ในปัจจุบัน สวิตเซอร์แลนด์และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจกต่างประเทศต่อไป
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น