เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) โดยเรียกเก็บภาษีสินค้านําเข้าจากประเทศต่าง ๆ ร้อยละ 10 ซึ่งไนจีเรียจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมอีกร้อยละ 14 มีผลตั้งแต่ 9 เมษายน 2568 เป็นต้นไปนั้น (แม้ว่าปัจจุบันสหรัฐอเมริกาจะประกาศระงับการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ชั่วคราว เป็นระยะเวลา 90 วัน และอาจพิจารณาลดภาษีตอบโต้ลง โดยอยู่ที่ร้อยละ 10 (ข้อมูล ณ วันที่ 10 เมษายน 2568))
อย่างไรก็ดี หากสหรัฐอเมริกายังคงเดินหน้าเรียกเก็บภาษีตอบโต้ดังกล่าว รัฐบาลและภาคเอกชนไนจีเรียมีความกังวลว่า นโยบายของสหรัฐอเมริกาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ํามันและสินค้าอื่น ๆ ดังนี้
(1) น้ำมันและก๊าซ
แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะยกเว้นภาษีสําหรับสินค้าพลังงาน เช่น น้ํามันดิบ แต่ผลกระทบทางอ้อมอาจเกิดขึ้นจากการลดลงของการผลิตทั่วโลก ซึ่งจะลดความต้องการน้ํามันและทําให้ราคาน้ํามันดิบ (เช่น Brent Crude) ลดลงต่ํากว่า 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเกิดขึ้นแล้วหลังการประกาศของประธานาธิบดีทรัมป์ดังกล่าว
น้ํามันเป็นแหล่งรายได้หลักของไนจีเรีย (มากกว่าร้อยละ 90 ของรายได้จากการส่งออก) การลดลงของราคาน้ํามันอาจทําให้รายได้ของรัฐบาลไนจีเรียและทุนสํารองระหว่างประเทศลดลง ส่งผลให้ค่าเงินไนร่า (Naira) อ่อนค่าและเงินเฟ้อสูงขึ้น
(2) สินค้าที่ไม่ใช่น้ํามัน (ปุ๋ย ตะกั่ว เกษตรกรรม)
สินค้าที่ไม่ใช่น้ํามัน เช่น ปุ๋ย (มูลค่าร้อยละ 2 – 3) และผลิตภัณฑ์เกษตร (ประมาณร้อยละ 2) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการยกเว้นจากสหรัฐอเมริกา ภายใต้ พ.ร.บ. African Growth and Opportunity Act (AGOA) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าพิเศษสําหรับประเทศในแอฟริกาจะถูกเรียกเก็บภาษีร้อยละ 10 – 14 ทําให้ราคาสินค้าที่ไม่ใช่น้ํามันและผลิตภัณฑ์เกษตรมีราคาสูงขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา และจะทําให้ไนจีเรียสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับสินค้าท้องถิ่นหรือจากประเทศอื่น ๆ
National Association of Nigerian Exporters (NANE) ประเมินว่า สินค้าเกษตรหลัก 3 ชนิดที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ เมล็ดโกโก้ (ส่งออกปีละ 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ถั่วลิสง (ส่งออกปีละ 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และงา (ส่งออกปีละ 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเกษตรกรไนจีเรียมากกว่า 2 แสนครัวเรือนจะขาดรายได้จากสินค้าเกษตรหลัก 3 ชนิดดังกล่าว
(3) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีตาม AGOA โดยพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ถั่วและแป้งจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นและความเสี่ยงจากการลดคําสั่งซื้อจากผู้นําเข้าในสหรัฐอเมริกา


นอกจากนี้ นาย Sherif Balogun ประธานสภาหอการค้าไนจีเรีย – อเมริกัน (Nigerian – American Chamber of Commerce: NACC) กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มใช้ AGOA ในปี 2543 ไนจีเรียส่งออกสินค้ามูลค่ารวมประมาณ 277 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังสหรัฐอเมริกา โดยส่วนใหญ่เป็นน้ํามันดิบ ทั้งนี้ ไนจีเรียเรียกเก็บภาษีนําเข้าร้อยละ 27 จากสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งได้คาดการณ์ว่ามาตรการตอบโต้ทางภาษีดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไนจีเรีย ได้แก่
- (1) ภาษีตอบโต้สินค้านําเข้า เช่น ข้าวสาลีและยานพาหนะ จะเพิ่มราคาสินค้าในไนจีเรีย ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นและคุณภาพชีวิตของประชาชนลดลง
- (2) การชะลอตัวของการค้าระหว่างประเทศ อาจส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกลดลง ซึ่งจะกระทบต่อไนจีเรียในฐานะประเทศที่พึ่งพาการส่งออก
- (3) การลดลงของรายได้จากการส่งออกน้ํามันและสินค้าอื่น ๆ ที่ลดลง จะทําให้ทุนสํารองเงินตราต่างประเทศของไนจีเรียลดลง และอาจเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินไนร่าให้อ่อนค่าจากระดับปัจจุบันอีกด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2567 ไนจีเรียค้าขายกับสหรัฐอเมริกา รวม 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไนจีเรียส่งออก 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนําเข้า 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากข้างต้น นักเศรษฐศาสตร์ไนจีเรียได้เสนอให้รัฐบาลใช้ พ.ร.บ. AGOA ต่อรองเพื่อขอยกเว้นภาษีบางส่วนจากสหรัฐอเมริกา และแสวงหาตลาดใหม่ เช่น จีน (มีความสนใจซื้อน้ํามันดิบเพิ่มขึ้น) และอินเดีย (เปิดตลาดรับซื้อสินค้าเกษตรแปรรูป) ตลอดจนไนจีเรียอาจพิจารณาเร่งโครงการ “Export Expansion Grant” เพื่อสนับสนุนผู้ส่งออก SMEs และลดการพึ่งพาน้ํามันด้วยการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา