พัฒนาการของเทคโนโลยี AI ทำให้ AI สามารถเป็นผู้ช่วยมนุษย์ในการสร้างสรรค์ผลงานได้เร็วขึ้น ด้วยการสั่ง (Prompt) โดย Generative AI สามารถสร้างข้อความ หรือรูปภาพ และทำการประมวลและแสดงผลออกมาในรูปแบบไฟล์ต่าง ๆ เช่น JPEG, PNG และ PDF ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในการทำงานต่อไปได้ ทำให้สำนักพิมพ์ นักเขียน ตลอดจนผู้คนทั่วโลกได้ทดลองและริเริ่มนำ AI มาเป็นตัวช่วยย่นระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพงานเขียน รวมถึงในกระบวนการจัดทำหนังสือทั้งแบบรูปเล่ม และ E-book เช่น ในวงการการ์ตูนมังงะญี่ปุ่น นักเขียนนามแฝงว่า ‘Rootport’ ได้ใช้เครื่องมือ Generative AI คือ ‘Midjourney’ สร้างภาพประกอบการ์ตูนมังงะ ‘Cyberpunk: Peach John’ ซึ่งการใช้เครื่องมือดังกล่าวสามารถย่นระยะเวลาการจัดทำหนังสือการ์ตูนมังงะหนา 100 หน้า จากปกติที่อาจใช้เวลาถึง 1 ปี เหลือเพียงแค่ 6 สัปดาห์เท่านั้น และในวงการนวนิยาย นักเขียนอย่าง ‘Tim Boucher’ ได้ใช้ ‘Midjourney’ จัดทำภาพประกอบเนื้อหา และยังใช้เครื่องมือ AI อื่น ๆ อย่าง ‘ChatGPT’ และ ‘Claude’ คิดค้นและเขียนเนื้อเรื่อง โดย Boucher ได้จัดทำหนังสือนวนิยายไปแล้วจำนวน 97 เล่ม ภายในระยะเวลาเพียง 9 เดือนเท่านั้น ซึ่งหากเทียบกับเวลาโดยเฉลี่ยในการเขียนนวนิยาย 1 เล่ม จะอยู่ที่ประมาณ 3 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของนักเขียน