เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ร่วมกับ Thailand and Nordics Countries Innovation Unit (TNIU) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) จัดการสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “พลิกโฉมเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม กรณีศึกษาจากเมืองออร์ฮูส เดนมาร์ก” ซึ่งได้รับเกียรติจากนาย Jesper Algren หัวหน้าศูนย์วัฒนธรรม สำนักเทศบาลเมืองออร์ฮูส แผนกนวัตกรรม เทคโนโลยีและการสร้างสรรค์ (ITK) เป็นวิทยากรและร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ และมีดร.นน อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เป็นผู้ดำเนินรายการ การสัมมนาครั้งนี้ผู้เข้าร่วมจะประกอบไปด้วยนักวิชาการ นักศึกษา อาจารย์ ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลและภาคเอกชน เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์รวม 46 คน
การสัมมนาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการนำแนวทางที่เป็นนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพลเมืองและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ด้วยการแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาและความสำเร็จของ Aarhus City Lab ที่ขับเคลื่อนความสำเร็จด้วยเทคโนโลยี ข้อมูลและความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน ทำให้สามารถสร้างเมืองที่มีความยั่งยืนและเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการ อีกทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาของไทย ได้แก่ เทศบาลนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับรางวัลจากงาน World Smart City Expo เมื่อปี 2566 จากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
โดย Aarhus เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของเดนมาร์ก มีประชากรประมาณ 360,000 คน มีจุดเด่นที่น่าสนใจหลายประการ โดยออร์ฮูสไม่เพียงแต่เป็นเมืองแห่งการศึกษาเท่านั้นแต่เป็นเมืองที่มีประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก โดยครึ่งหนึ่งของประชากรในเขตเมืองมีอายุระหว่าง 20-29 ปี ซึ่งเป็นความท้าทายและเป็นโอกาสในการพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยและความยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของเมือง Aarhus คือ การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (CO2 Neutrality) ภายในปี 2573 ซึ่งความทะเยอทะยานดังกล่าวทำให้เมืองได้รับการยอมรับในฐานะหนึ่งใน “100 European Climate-Neutral and Smart Cities 2030” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรปและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เทศบาลเมือง Aarhus จึงได้จัดแผนก ITK (Innovation-Technology-Creativity) ที่มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีส่วนร่วมในโครงการที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมและพัฒนาบริการเมืองดิจิทัล
เทศบาลเมืองออร์ฮูสมีวิสัยทัศน์ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อย CO2 ลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 จึงมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเมือง (City Lab) เป็นแหล่งทดสอบและเป็นที่แสดงนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในด้านการจัดการขยะ การปรับปรุงคุณภาพอากาศและการพัฒนาระบบขนส่ง ร่วมกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเมืองผ่านเครื่องมือดิจิทัลและกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้รับฟังความคิดเห็นและร่วมแก้ปัญหาจากภาคประชาสังคม
ทั้งนี้แนวคิดของ City Lab อาจดูเหมือนเป็นนามธรรม แต่โครงการที่เมือง Aarhus ดำเนินการอยู่นั้นได้ทำให้แนวคิดดังกล่าวจับต้องได้และสร้างผลกระทบอย่างชัดเจน โดย Aarhus City Lab มุ่งเน้นไปที่การผสมผสานพฤติกรรมของประชาชนกับการวัดผลแบบดิจิทัล เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมในเมืองที่เป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น ส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาในเมืองได้ในหลากหลายด้าน เช่น การจัดการที่จอดรถ การจัดการขยะในที่สาธารณะ การพัฒนาระบบขนส่ง ศิลปะและวัฒนธรรม และการจูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้าง Smart City
โดยมีตัวอย่างกรณีศึกษาที่ Aarhus City Lab พัฒนาร่วมกับบริษัทต่างๆ ดังนี้
- Skodrobooten หุ่นยนต์เก็บขยะบุหรี่และถุงนิโคตินในพื้นที่สาธารณะ เพื่อลดภาระงานของพนักงานเก็บขยะ
- หุ่นยนต์ลอยน้ำเพื่อเก็บขยะในน้ำ เป็นการใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ช่วยในการเก็บขยะและบริหารจัดการขยะในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยลดภาระงานที่ต้องใช้แรงงานคนและป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของพนักงาน
- การจัดการที่จอดรถในเมืองออร์ฮูส โดยประชาชนส่วนใหญ่จะมีรถยนต์จำนวน 2 คันต่อครัวเรือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมืองจึงได้ติดตั้งเซนเซอร์จำนวน 1,000 ตัวในพื้นที่จอดรถ เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบว่าในบริเวณนั้นยังมีที่จอดว่างอยู่ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการขับรถวนหาที่จอดและลดการก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ไม่จำเป็น
- การใช้เทคโนโลยีในการวัดอุณหภูมิของทางจักรยาน โดยเทศบาลเมือง Aarhus ได้พัฒนาระบบนวัตกรรมเพื่อดูแลและบริหารจัดการสภาพของเส้นทางจักรยานในช่วงฤดูหนาว โดยการติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิตามเส้นทางจักรยานสำคัญในเมือง ระบบดังกล่าวจะช่วยให้สามารถเก็บข้อมูลอุณหภูมิเส้นทางแบบเรียลไทม์ ข้อมูลที่ได้ถูกนำไปใช้ในการประเมินและดูแลสภาพเส้นทางจักรยานให้เหมาะสมที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็น ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้สัญจรโดยจักรยาน และถือเป็นการสนับสนุนการใช้จักรยานตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในด้าน Smart City โดยในปี 2566 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ได้เปิดตัวเมืองอัจฉริยะ 36 เมืองใน 25 จังหวัด โดยรัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายจำนวนเมืองอัจฉริยะให้เป็น 105 แห่งภายในปี 2570 ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงในเมือง โดยในช่วงปีแรกของกรอบการทำงาน DEPA ได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานความเร็วสูง เช่น เครือข่าย 5G โดยในขณะนี้ DEPA ได้ตั้งเป้าที่จะทำให้เมืองต่างๆ เป็นที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ มีความยืดหยุ่นและมีความเจริญทางเศรษฐกิจในช่วง 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน