Deposit Return System (DRS) คือการมัดจำและแลกคืนเงินจากขวดพลาสติก ขวดกระป๋องและขวดแก้วเพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ทำให้ช่วยลดปริมาณขยะได้จำนวนมาก และจะมีเครื่องรับคืนขวดตั้งอยู่ตามซุปเปอร์มาร์เกต ท้องถนนจะมีถังขยะโซนให้วางขวดพลาสติกไว้สำหรับบริจาคให้ผู้คนไร้บ้านเก็บขวดดังกล่าวไปแลกเป็นเงิน ซึ่งสามารถพบเห็นได้ง่ายและสะดวกต่อการคืนขวดเพื่อรีไซเคิล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดสังคมหมุนเวียนมากขึ้นและมีการจัดการที่ดีในด้านขยะ
ตามแนวปฏิบัติการคัดแยกขยะในครัวเรือนของเทศบาลโคเปนเฮเกนนั้น ทุกครัวเรือนต้องคัดแยกประเภทขยะก่อนนำไปทิ้งเพื่อง่ายต่อการกำจัดและรีไซเคิล อีกทั้ง เมื่อผู้บริโภคซื้อเครื่องดื่มที่เป็นขวดพลาสติกหรือกระป๋องอลูมิเนียมจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม 1-3 โครน (ราว 3-9 บาท) ขึ้นอยู่กับขนาดและวัสดุของภาชนะ ซึ่งการเก็บค่าธรรมเนียมนี้จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคส่งคืนภาชนะไปรีไซเคิลและแลกเป็นส่วนลดในการซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เกตในครั้งต่อไปหรือแลกเป็นเงินสดได้
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เริ่มโครงการ “ระบบเก็บขวดคืนเงิน” หรือ Deposit Return System (DRS) ไปเมื่อปี 2020 และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และภาคเอกชน โดยนำเครื่อง Reverse Vending Machines (RVM) ตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เช่น ศูนย์การค้าสยามพารากอนที่มีคนไทยและชาวต่างชาติพลุกพล่านทำให้สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย หรือเมเจอร์ซีนีเพล็ก รัชโยธิน ที่เป็นจุดศูนย์รวมของผู้คนและนักศึกษา อีกทั้งยังสามารถนำแต้มสะสมมาแลกเป็นตั๋วหนังได้อีกด้วย
โดยนับว่าเป็นความก้าวหน้าในการทำให้ผู้คนตระหนักถึงการรีไซเคิล ลดขยะและของเสีย รักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างระบบรีไซเคิลแบบวงจรปิดที่ขวดและกระป๋องจะนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งได้ อีกทั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายในการรีไซเคิลขวดพลาสติกในสหภาพยุโรปอยู่ที่ 77% ในปี 2025 และ 90% ในปี 2029
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์