รัฐบาลฟินแลนด์ได้เริ่มพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี 2499 โดยได้ติดตั้งคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในสถาบันความมั่นคงทางสังคมและในธนาคาร และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ในการให้บริการสาธารณะและในระบบการเงิน/ธนาคาร ซึ่งความพยายามดังกล่าวเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงปี 2533 ที่รัฐบาลฟินแลนด์มีการจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมสารสนเทศ (Information Society Programmed) โดยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในสถาบันการศึกษา การพัฒนาเนื้อหาสารสนเทศสำหรับนักเรียนและการผลิตครู รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับ Digital Economy and Society Index ด้านความก้าวหน้าและการเป็นประเทศผู้นำในเรื่อง digitalization เมื่อปี 2565 เปิดเผยว่า ฟินแลนด์ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 1 ของ EU
แผนการพัฒนาดิจิทัลของฟินแลนด์
ที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลของฟินแลนด์ได้สานต่อนโยบายสาธารณะและแผนยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินการตามแผน Digital Compass ซึ่งตั้งเป้าให้บรรลุเป้าหมายได้ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ทั้งนี้ แผน Digital Compass หรือ เข็มทิศดิจิทัล เป็นหมุดหมายที่รัฐบาลฟินแลนด์กำหนดใช้เป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยวางกรอบแผนงานในการปฏิรูปและพัฒนาระบบดิจิทัลในฐานะหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ฟินแลนด์ประสบความสำเร็จในการใช้นวัตกรรมเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองในสังคม รวมถึงเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับประโยชน์ แนวคิด และทิศทางของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบเศรษฐกิจให้ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data economy)
Digital Compass มีแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายใน 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านทักษะที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัลของประชาชน (skills) (2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ความมั่นคงทางไซเบอร์ และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (3) ด้านธุรกิจ (business) ที่มุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงานและพัฒนาความสามารถทางดิจิทัลของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง และ (4) ด้านการให้บริการสาธารณะ (public services) ที่มุ่งตอบสนองวิถีชีวิตของพลเมืองโดยการให้บริการของแต่ละหน่วยงานที่มีความเชื่อมโยงกันและมีความปลอดภัย
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ฟินแลนด์มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบและร่วมบูรณาการในการพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการ digitalization ระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชนอย่างชัดเจน เช่น กระทรวงการคลัง ดูแลการจัดเก็บข้อมูล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการให้บริการต่าง ๆ ของรัฐ ฝ่ายสารสนเทศและการสื่อสาร (the Public Sector ICT department) กำหนดกรอบและเป็นผู้นำในกระบวนการ digitalization ของการบริการสาธารณะ และรัฐบาลท้องถิ่นและการบริหารจัดการส่วนภูมิภาค (the Department for Local Government and Regional Administration) ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบดิจิทัลในระดับเทศบาลและท้องถิ่น ทั้งนี้ หน่วยงานที่สำคัญอีกหนึ่งหน่วยงาน คือ the Digital and Population Data Services Agency (สังกัดกระทรวงการคลัง) ทำหน้าที่พัฒนาข้อมูลรวมศูนย์ของเว็บไซต์ Suomi.fi ที่ให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบริการของรัฐ เทศบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างการบริการสาธารณะออนไลน์ของฟินแลนด์
ฟินแลนด์ให้บริการสาธารณะออนไลน์ ใน 9 หมวด ได้แก่ (1) การบริการด้านการท่องเที่ยว ให้บริการทำหนังสือเดินทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานตำรวจเช่นเดียวกับการทำบัตรประชาชน (2) การบริการเกี่ยวกับการทำงานและการเกษียณ ให้บริการด้านการจัดเก็บและการคืนภาษีผ่านแบบฟอร์มออนไลน์ (3) การให้บริการเกี่ยวกับการขับขี่และยานพาหนะ ให้บริการในรูปแบบดิจิทัลผ่านระบบ eServices ที่ให้บริการโดย Traficom (แต่ต้องผ่านการทดสอบภาคปฏิบัติจริง) (4) การให้บริการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ให้บริการเกี่ยวกับการแจ้งเปลี่ยนที่อยู่ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งรับผิดชอบโดยการไปรษณีย์ และ Population Register Center (5) การให้บริการด้านการศึกษาและเยาวชน ให้บริการห้องสมุดสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ libraries.fi (6) การให้บริการด้านสุขภาพ ให้บริการผ่านทางเว็บไซต์ Kanta Services โดยประชาชนสามารถดูข้อมูลประวัติสุขภาพ การจ่ายยา การต่ออายุใบจ่ายยา การแจ้งความจำนงขอบริจาคอวัยวะ รวมถึงการขอสั่งยาและการอนุมัติจ่ายยาผ่านทางออนไลน์ (7) การให้บริการด้านการจัดการครอบครัว เช่น การจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร ดำเนินการเบิกจ่ายอัตโนมัติโดยสถาบันประกันสังคมทันทีที่มีการลงทะเบียนการเกิด (8) การให้บริการเกี่ยวกับการบริโภค อาทิ การให้บริการไกล่เกลี่ยปัญหา/ข้อโต้แย้งระหว่างภาคธุรกิจและประชาชนผ่านเว็บไซต์ www.kuluttajariita.fi/en/index.html และ (9) การให้บริการสำหรับภาคธุรกิจ อาทิ การยื่นขอสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสำหรับการจัดตั้งธุรกิจ
นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังได้ใช้ National Artificial Intelligence Program หรือ AuroraAI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมให้ราบรื่นและมีความปลอดภัยของข้อมูลตรงตามหลักจริยธรรม ซึ่งการใช้เทคโนโลยี AI รวมถึงกระบวนการ digitalization จะนำไปสู่การเข้าถึงข้อมูลสาธารณะที่สอดคล้องกับ real time economy และ data economy ซึ่งรัฐบาลสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาปรับแก้นโยบายสาธารณะและกฎหมายต่าง ๆ ตลอดจนสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ ทั้งนี้ ล่าสุด กระทรวงการคลังฟินแลนด์ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ EU’s Digital Wallet (ระยะเวลาดำเนินโครงการนำร่องระหว่างวันที่ 26 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2569) ให้สอดรับกับ eIDAS Regulation ของ EU ซึ่งจะสามารถให้บริการสาธารณะที่สอดรับกับวิถีชีวิตของพลเมือง EU (ตรวจสอบการจ้างงานของประชาชน รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเสียภาษี และการสั่งจ่ายเงินระหว่างประเทศ) โดยมุ่งเป้าไปที่การทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดให้อยู่ในระบบดิจิทัลที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย
สรุป
ความสำเร็จของฟินแลนด์ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาการบริการสาธารณะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุมในทุก ๆ ด้านและภาคธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ เกิดขึ้นได้เพราะหน่วยงานรัฐทุกฝ่ายดำเนินงานแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันจนเป็นระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเดียวกัน ซึ่งไทยอาจพิจารณาศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการดิจิทัลที่ให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างครอบคลุมและครบวงจร ตลอดจนเทคโนโลยีเครือข่ายและ AI เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ และเป็นการใช้งบประมาณและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเท่าทันการพัฒนา E-government ของฟินแลนด์และประเทศอื่น ๆ ตามสโลแกน ของฟินแลนด์ที่ว่า “สังคมที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเท่านั้นที่จะสามารถก้าวนำสังคมอื่นได้” (Speed is essential – Digitalizing society)
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์