ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) และ สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสิงคโปร์ (Infocomm Media Development Authority – IMDA) ร่วมกันประกาศกรอบการทํางานเพื่อความรับผิดชอบร่วมกัน (Shared Responsibility Framework -SRF) เพื่อเป็นมาตรการปกป้องผู้บริโภคจากการหลอกลวงทางไซเบอร์ (Scam) โดยเฉพาะการโอนเงินผ่านธนาคารและ phishing scam
โดยกรอบการทํางานเพื่อความรับผิดชอบร่วมกัน (Shared Responsibility Framework) มีเป้าหมายในการปกป้องผู้บริโภคทางออนไลน์เพื่อลดภาระของผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงออนไลน์และมักต้องแบกรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ SRF กําหนดให้ธนาคารและบริษัทโทรคมนาคมเริ่มดําเนินการตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2567
ในภาคการธนาคาร รวมทั้งผู้ให้บริการชําระเงินแบบ e-wallet ต้องให้ความรู้และเตือนภัยแก่ลูกค้าของตนเกี่ยวกับการหลอกหลวงออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งแนะนําวิธีการตรวจสอบและจับสังเกตุพิรุธต่าง ๆ เช่น การรับโทรศัพท์หรือข้อความอีเมลที่ขอข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งธนาคารจะต้องตรวจจับข้อทุจริตและยุติธุรกรรมที่ผิดปกติในทันทีเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เงินถูกโอนไปยัง scammer โดยใช้ระบบ Al และ Machine Learning ในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อแยกแยะธุรกรรมที่น่าสงสัย
ทั้งนี้ หากเงินในบัญชีถูกโอนออกไปภายในวันเดียวกันมีจํานวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดคงเหลือในบัญชีอย่างน้อย 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ธนาคารจะต้องระงับการโอนเงินจากบัญชีดังกล่าว และแจ้งเตือนไปยังเจ้าของบัญชีเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและขอรับความยินยอมภายใน 24 ชั่วโมง หากธนาคารไม่ดําเนินการก็จะต้องชดเชยเงินนั้นเต็มจํานวนให้แก่เจ้าของบัญชีเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น
บริษัทโทรคมนาคม (อาทิ Singtel, StarHub, M1, Simba) ต้องตรวจจับช่องทางการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือเพื่อลดความเสี่ยงที่ scammer อาจส่งข้อความให้กดลิงค์เพื่อเข้าถึงบัญชีหรือข้อมูลที่ละเอียดอ่อน และ ร่วมมือกับหน่วยงานกํากับดูแลและตํารวจในการกําจัดข้อความหลอกลวง (phishing SMS) ที่ไม่ได้มาจากแหล่งต้นทางที่แท้จริง ทั้งนี้ หากไม่ดําเนินการจะต้องชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ตกเป็นเหยื่อจากลิงค์หลอกลวงเหล่านี้
จากกรอบการทํางานดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การป้องกัน phishing scam บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งเป็นการส่งข้อความหลอกลวงให้กดลิงค์ดูดเงิน อย่างไรก็ดี ผู้ได้รับความเสียหายจาก phishing scam เหล่านี้สามารถส่งข้อร้องเรียนเพื่อเรียกค่าเสียหายไปยัง Financial Industry Disputes Resolution Centre ของสิงคโปร์ได้
จากข้อมูล IMDA พบว่า จํานวนเหยื่อที่ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ในครึ่งแรกของปี 2567 มูลค่าความเสียหายกว่า 385.6 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยส่วนมากเป็นการหลอกลวงทางการค้าออนไลน์ การส่งลิงค์รับสมัคร ออนไลน์ สําหรับการหลอกลวงทาง phishing scam มีมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 13.3 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ หากปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขก็คาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายจากการหลอกลวงทางออนไลน์ตลอดปี 2567 จํานวนมากกว่า 770 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และสําหรับ phishing scam อาจสูงถึง 7.3 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ |
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียง ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์