รัฐบาลสิงคโปร์กำหนดให้ข้อความทางโทรศัพท์ (SMS) ที่ส่งจากหน่วยงานรัฐบาลสิงคโปร์ทั้งหมด จะถูกส่งภายใต้รหัสผู้ส่ง (Sender ID) เดียวกัน คือ gov.sg โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567
ปัญหาสแกมเมอร์ในสิงคโปร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล
ในช่วงที่ผ่านมา ข้อความ SMS จากหน่วยงานของรัฐบาลสิงคโปร์จะแสดงรหัสผู้ส่งแตกต่างกันไปตามชื่อหน่วยงาน เช่น MOH จากกระทรวงสาธารณสุข IRAS จากหน่วยงานจัดเก็บภาษี อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มมิจฉาชีพที่ส่ง SMS โดยใช้รหัสผู้ส่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นหน่วยงานรัฐบาลเพื่อหลอกลวงประชาชน โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ประชาชน 120 คน ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงโดยแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยสูญเสียเงินไปมากกว่า 13 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
รัฐบาลสิงคโปร์ได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการหลอกลวงทาง SMS เช่น ในปี 2565 ธนาคารทุกแห่งในสิงคโปร์ได้ยกเลิกการแนบลิงก์ที่คลิกได้ในอีเมลและ SMS ให้กับลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันเพื่อต่อสู้กับกลโกงของมิจฉาชีพ และในปี 2566 Infocomm Media Development Authority (IMDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านสารสนเทศ การสื่อสารและการพัฒนาสื่อของสิงคโปร์ ได้กำหนดให้ทุกองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ส่ง SMS พร้อมรหัสผู้ส่งที่มีตัวอักษรและตัวเลขต้องลงทะเบียนในระบบ Singapore SMS Sender ID Registry (SSIR) โดยเมื่อเดือนเมษายน 2567 มีธุรกิจมากกว่า 4,000 แห่ง รวมถึงสถาบันการเงินที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการลงทะเบียน SSIR SMS ขององค์กรที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับ IMDA จะมีข้อความเตือนไปยังผู้รับข้อความว่า “อาจเป็นข้อความหลอกลวง” (likely scam)
นาง Josephine Teo รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสิงคโปร์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หลังการเปิดตัวระบบลงทะเบียนรหัสผู้ส่ง SMS ของสิงคโปร์ มิจฉาชีพได้เปลี่ยนมาใช้ซิมการ์ดท้องถิ่นเพื่อเข้าถึงเหยื่อผ่านการโทรศัพท์และการส่ง SMS โดยในปี 2566 โทรศัพท์เคลื่อนที่ในสิงคโปร์มากกว่า 23,000 เลขหมายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงและอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตรวจสอบต่อไป
รัฐบาลสิงคโปร์วางแผนเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งข้อความของภาครัฐ
Government Technology Agency (GovTech) ของสิงคโปร์ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาระบบดิจิทัลของสิงคโปร์ โดยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็น Singapore Smart Nation ทั้งนี้ หน่วยงาน Open Government Products (OGP) ภายใต้ GovTech เป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีเพื่อสาธารณประโยชน์ รวมทั้งระบบการลงทะเบียน SMS ที่ระบุรหัสผู้ส่งภาครัฐเป็น gov.sg เพื่อปกป้องประชาชนจากการหลอกลวงโดยแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป หน่วยงานภาครัฐของสิงคโปร์ทั้งหมดจะเปลี่ยนมาใช้รหัสผู้ส่ง SMS เดียวกันคือ gov.sg ยกเว้นข้อความจากกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องกับการทหารและเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ข้อความจะถูกส่งจากรหัสผู้ส่งที่แตกต่างออกไป โดยข้อความ SMS จากหน่วยงานภาครัฐของสิงคโปร์จะเริ่มต้นด้วยการแสดงชื่อเต็มของหน่วยงานที่ส่งข้อความ และลงท้ายด้วยข้อความแจ้งว่าเป็นข้อความอัตโนมัติจากหน่วยงานนั้น ทั้งนี้ ข้อความ SMS จากมิจฉาชีพที่ปลอมแปลงตัวตนโดยใช้ตัวสะกดแบบอื่นเพื่อให้ดูใกล้เคียงกับ gov.sg เช่น g0v.5g จะถูกป้องกันไม่ให้เข้าถึงสาธารณะ
นาย Sim Feng-Ji รองเลขาธิการ Smart Nation Group ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ มีหน้าที่กำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ Singapore Smart Nation ได้ให้ข้อมูลแก่สาธารณชนในสิงคโปร์ว่า รหัสผู้ส่ง gov.sg ได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ประชาชนในสิงคโปร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการขจัดข้อความที่อาจเป็นอันตรายและทำลายความไว้วางใจของสาธารณชนต่อการสื่อสารของรัฐบาล ทั้งนี้ รหัสผู้ส่ง gov.sg จะถูกนำไปใช้กับข้อความที่ส่งทาง SMS เท่านั้น โดยจะยังไม่นำไปใช้กับการรับส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันอื่น เช่น WhatsApp หรือ Telegram และมุ่งเน้นการสร้างความมั่นใจให้การเปิดตัวรหัสผู้ส่ง gov.sg ประสบความสำเร็จและราบรื่น ก่อนที่จะพิจารณาขยายการใช้งานไปในช่องทางการสื่อสารอื่น ๆ เช่น โทรศัพท์ อีเมล WhatsApp และ Telegram ต่อไป
ปัญหาการหลอกลวงผ่าน SMS ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลหลายประเทศกำลังเผชิญหน้า โดยที่ผ่านมา สิงคโปร์ประสบปัญหาอย่างหนักจากกรณีมิจฉาชีพโทรศัพท์แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติสิงคโปร์เปิดเผยว่า ในปี 2566 การถูกหลอกลวงทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 48.6 โดยมีจำนวนผู้ถูกหลอกลวงจาก 31,728 รายในปี 2565 เพิ่มเป็น 46,563 รายในปี 2566 ทั้งนี้ มูลค่าความเสียหายโดยเฉลี่ยสูงสุดต่อกรณีมีจำนวนสูงถึง 116,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงพยายามปรับปรุงแก้ไขกฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงให้กับประชาชนอย่างจริงจัง
จากแนวทางของประเทศสิงคโปร์ข้างต้น รัฐบาลไทยอาจนำมาปรับใช้กับบริบทของประเทศได้ เนื่องจากปัจจุบันพบปัญหาการหลอกลวงจากมิจฉาชีพในรูปแบบ call center ที่มากขึ้น โดยอาจทดลองนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงข้อบกพร่องข้างต้น เพื่อปิดช่องโหว่และป้องกันไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อ
* * * * * * * * *
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ /สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์