จากที่หน่วยงานภาครัฐไทยได้เดินทางไปเข้าร่วมงาน Asia Tech x Singapore 2024 ในระหว่างวันที่ 29 – 31 พฤษภาคม 2567 ณ ประเทศสิงคโปร์นั้น ได้มีการหารือกับฝ่ายสิงคโปร์เพื่อขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนี้
ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
สิงคโปร์ – ไทย ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลการดําเนินงานและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกัน เช่น นโยบายระบบบริการคลาวด์ของภาครัฐ (cloud first) และการแก้ปัญหา online scam โดยทั้งสิงคโปร์และไทยได้เห็นพ้องที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการเชื่อมโยง digital identity เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการโฆษณาใน social media ที่เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน ทั้งนี้ ปัจจุบันหลายประเทศ รวมถึงอาเซียนมีความตื่นตัวในเรื่องนี้ โดยในกรอบอาเซียนมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้าน anti-online scam เป็นประจำทุก 2 เดือน
นอกจากนี้ สิงคโปร์เล็งเห็นว่า สิงคโปร์ – ไทย ยังสามารถขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยี AI ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญในฐานะวาระแห่งชาติ และกําลังขับเคลื่อนในหลายมิติ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้หารือกับ UN Al Advisory Body (AIAB) ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับ AI Governance ด้วย
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล
สำหรับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement: DEPA) ทั้งสิงคโปร์และไทยเห็นพ้องว่า ไทยควรเข้าร่วมความตกลง DEPA โดยเร็ว ทั้งนี้ การค้าดิจิทัลในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยรายได้จากการค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของไทยมีมูลค่าสูงกว่า 6 ล้านล้านบาท/ ปี
การดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในช่วงเร่งพัฒนา digital literacy สำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ได้รับงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ในส่วนของภาครัฐไทยนั้น ก็อยู่ในช่วงปรับตัวในการทำงานแบบ paperless และใช้ electronic signature ซึ่งรวมถึงการอนุมัติเบิกจ่ายสำหรับการทำ direct payment ที่ไม่ใช้การเขียนเช็ค ซึ่งเมื่อทุกอย่างปรับเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัลแล้วก็จะสามารถพัฒนาไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในการปฏิบัติงานต่อไป
สำหรับประเทศสิงคโปร์ ได้มีการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี ได้แก่ (1) ปรับตัวและพัฒนาประเทศอยู่ตลอดเวลาเพื่อคงความเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีในภูมิภาคอาเซียน (2) สนับสนุนเงินงบประมาณในการพัฒนาทักษะแรงงานและการฝึกอบรมความรู้เฉพาะทาง (reskill & upskill) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและตอบสนองตลาดด้านแรงงานเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และ (3) อุดหนุนเงินทุนให้แก่ภาคเอกชนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจและสังคมที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ การที่สิงคโปร์มี Data Center จำนวนมากและเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูง จึงต้องการนําเข้าพลังงานสะอาดจำนวนมาก โดยที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้ผลักดันให้เกิดโครงการ ASEAN Power Grid และคาดหวังให้เกิดการบูรณาการด้านพลังงานที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สิงคโปร์อยู่ระหว่างแสวงหาความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มแหล่งพลังงานไฟฟ้าผ่านทาง สปป. ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แม้จะต้องผ่านท่อใต้ทะเลซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนเป็นมูลค่าสูงมาก
สรุป
จากการหารือเพื่อขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างสิงคโปร์ – ไทยข้างต้นนั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ เห็นว่า ไทยน่าจะได้ประโยชน์จากประสบการณ์ของสิงคโปร์ ที่เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว โดยสิงคโปร์กําหนดให้เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นหนึ่งในเสาหลักภายใต้นโยบาย Smart Nation ด้วยความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประเทศขนาดเล็กที่ไม่มีทรัพยากรอย่างสิงคโปร์ สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลกได้
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์