อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันกําลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยคาดว่าจะเติบโตถึง ร้อยละ 17.7 รวมมูลค่า 1.54 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 13.1 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรม AI สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์
จากการสํารวจพบว่าบริษัทออกแบบชิปจะเติบโตร้อยละ 15 โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (wafer fab) จะเติบโตขึ้นร้อยละ 20 และบริษัท chip packaging and testing จะเติบโตร้อยละ 11 เพิ่มจากปี พ.ศ. 2566
แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์น่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จากกระแสความต้องการ AI ที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ภายในปี พ.ศ. 2571 จํานวน AI PC จะเพิ่มเป็นร้อยละ 80 ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 20 นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีระบบ AI ยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี ส่งผลให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะทวีความสําคัญต่อการเติบโตในภาคการผลิต
นายไล่ ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีไต้หวันได้เน้นย้ําถึงความสําคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และบทบาทของไต้หวันในฐานะที่เป็น “Silicon Island” โดยประกาศนโยบายที่จะมีบทบาทนําในด้าน AI เพื่อไปสู่การเป็น “Al Island” ของโลกในอนาคต ขณะเดียวกัน ทางการไต้หวันมีความตระหนักดีกับปรากฏการณ์ที่นักลงทุนพยายามกระจายความเสี่ยงโดยการกระจายฐานการผลิต อย่างไรก็ดี ก็พยายามที่จะรักษาเทคโนโลยีการผลิตชิปขั้นสูงไว้เฉพาะในไต้หวัน โดย TSMC คาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตชิปขนาด 2 นาโนเมตรได้ภายในปี พ.ศ. 2568 และชิปขนาด 1.4 นาโนเมตรภายในปี พ.ศ. 2571
ทั้งนี้ ไต้หวันได้ผ่านกฎหมายเพื่อเห็นชอบการลดภาษีร้อยละ 25 สําหรับบริษัทที่มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง รวมทั้งการลดภาษีร้อยละ 5 สําหรับการซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาได้ตั้งแต่ เมื่อปี พ.ศ. 2566 รวมถึงผ่อนปรนเงื่อนไขการทํางานและการพํานักในไต้หวันของชาวต่างชาติที่มีทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง ผ่านโครงการ Taiwan Digital Gold Card เพื่อเป็นการส่งเสริมและเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในไต้หวัน
นอกจากนี้ ไต้หวันให้การสนับสนุน NVIDIA บริษัทด้านเทคโนโลยีขั้นสูงจากสหรัฐฯ ซึ่งครองตลาดการผลิตชิปสําหรับ AI กว่าร้อยละ 88 ของโลก ในการจัดตั้งศูนย์ R&D แห่งแรกในไต้หวันเพื่อวิจัยและพัฒนา Supercomputer ในชื่อ Taipei-1
อย่างไรก็ตาม โดยที่ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น การขยายฐานการลงทุนของบริษัทไต้หวันในต่างประเทศเพื่อผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ไม่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงสุด จึงยังคงมีความจําเป็นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายการลงทุนไปยังภูมิภาคอื่น เช่น อาเซียน ซึ่งนอกจากการเป็นฐานการผลิตแล้ว หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ชัดเจน รวมถึงมีอุปสงค์จากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล (digital transformation) จึงเป็นโอกาสในการเปิดตลาดของภาคเอกชนไทยและเป็นโอกาสในการลงทุนจากไต้หวัน อีกทั้ง การลงทุนในไทยยังเป็นโอกาสให้บริษัทไต้หวันเปิดตลาดด้าน digital transformation และยังเป็นโอกาสในการต่อยอดการพัฒนา ecosystern ด้านเซมิคอนดักเตอร์ของไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ข้อมูล : สํานักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์