กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า รัฐบาลได้เข้าแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน – 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 9.79 ล้านล้านเยน โดยส่วนหนี่งเพื่อรับมือต่อการแปรผันของค่าเงินอย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นได้อ่อนค่าลงไปอีกสู่ระดับ 158 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำสุดนับแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2533 สืบเนื่องจากการเก็งกำไร ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจะจับตามองความเคลื่อนไหวของตลาดและดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มมาตรการลดหย่อนภาษีในส่วนของภาษีเงินได้ 30,000 เยน และภาษีท้องถิ่น 10,000 เยนต่อคน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นการคืนกำไรจากรายได้ภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นกลับสู่ประชาชน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ คาดว่า จะกระตุ้นการบริโภคได้ในระยะหนึ่ง ในสัดส่วนร้อยละ 20 – 30 ของมูลค่า ภาษีลดหย่อน เพราะอาจมีการนำไปเก็บเป็นเงินออมได้
สำหรับพัฒนาการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท Panasonic ได้ขยายธุรกิจใหม่ “Refurbished product” ซึ่งจะนำเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่เก่า ชำรุด หรือถูกทิ้งเป็นขยะมาทำการซ่อมแซมและขายเป็นสินค้ามือสองที่มีราคาถูกกว่าสินค้ามือหนึ่งประมาณร้อยละ 30 เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น กล้องถ่ายรูป และโทรทัศน์ ธุรกิจใหม่นี้นอกจากจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้วยังช่วยประหยัดรายจ่ายครัวเรือนเนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพในญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ยังมีบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น เช่น Hitachi และ Apple มีโครงการลักษณะดังกล่าวเพื่อลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นภาระในการกำจัดเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น Sony ยังเป็นบริษัทรายแรกของญี่ปุ่นที่ได้ประกาศยกเลิกการใช้โฟมโพลีสไตรีนสำหรับป้องกันการกระแทกในบรรจุภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยจะร่วมมือกับบริษัท Kaneda Corporation ผู้ผลิตวัสดุ Green Planet ใช้ไบโอโพลีเมอร์ที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ (สลายในดินและในทะเล) ตามนโยบาย Road to Zero ที่ตั้งเป้าหมายลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรการผลิตภายในปี ค.ศ. 2040 โดยได้ยกเลิกการใช้พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กที่มีน้ำหนักไม่เกิน 1 กิโลกรัม เช่น สมาร์ทโฟน กล้อง รวมถึง Audio Accessories ประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะครอบคลุมประมาณร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ Sony จัดส่งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2022 และในปีนี้จะมีแผนจะยกเลิกการใช้พลาสติกและโฟมในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ให้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน ด้านเทคโนโลยี กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น จัดทำโครงการ Generative AI Accelerator Challenge (GENIAC) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในการพัฒนาโมเดลพื้นฐานที่เกี่ยวกับ Generative AI ที่ไม่เพียงแค่เลียนแบบกระบวนการคิดของมนุษย์แต่ถูกออกแบบมาให้สามารถ “สร้างความคิดใหม่” จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ โครงการ GENIAC มีการสร้างเครือข่ายธุรกิจ ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่กลุ่มที่ 1 คือ ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกจาก METI เท่านั้น ส่วนกลุ่มที่ 2 จะเน้นการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทั้งหมด
นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการนำข้อมูลดาวเทียมมาใช้ ประโยชน์สำหรับการจัดการและรวบรวมซากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน โดยมีหน่วยงาน NEDO (New Energy and Industrial Technology Development Organization) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเปิดโอกาสให้บริษัทหรือผู้สนใจส่งโครงการที่ใช้เทคโนโลยีในการติดตามรวบรวมซากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเข้าประกวด และจะมีการพิจารณาคัดเลือกโครงการที่น่าสนใจเพื่อมอบงบประมาณสนับสนุน โดยรางวัลสูงสุดมีมูลค่ามากถึง 10 ล้านเยน และเน้นเทคโนโลยีที่สามารถตรวจติดตามและเก็บรวบรวมแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกทิ้งปะปนไปกับขยะทั่วไปแบบเผาไม่ได้ โดยจะมีเกณฑ์การให้คะแนนแบ่งเป็นหมวดต่าง ๆ เช่น ความง่ายในการใช้งาน ต้นทุน ระยะเวลาที่ใช้ใน การจัดการ เป็นต้น
อนึ่ง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 มีชาวไทยเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นจำนวน 131,700 คน (รวมยอดประจำปี 2567 จำนวน 323,000 คน) ขณะที่มีชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 93,136 คน (รวมยอดประจำปี 2567 จำนวน 271,427 คน) กระทรวงการคลังญี่ปุ่น ระบุว่า ดุลการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสแรกเกินดุลสูงเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 เนื่องจากการท่องเที่ยวขาเข้ายังเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่การท่องเที่ยวขาออกต่างประเทศยังอยู่ระดับต่ำ ผลสำรวจของ H.I.S. ระบุว่า ความต้องการเดินทางท่องเที่ยงหลังจบการศึกษาในกลุ่มผู้หญิงวัย 20s มีสูงขึ้น โดยแสดงความสนใจไปเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด เช่น ไทย รวมทั้งเกาหลีใต้และไต้หวัน
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอาจติดตามกิจกรรมที่น่าสนใจจาก NEDO เพื่อแสวงหาโอกาสในการขอรับการสนับสนุนหรือขยายความร่วมมือในระดับที่ใหญ่ขึ้น โดยสามารถติดตามได้จาก https://www.nedo.go.jp/english/index.html นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ผู้ประกอบการไทยในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่งในรูปแบบต่าง ๆ ควรรักษามาตรฐานการบริการ เพื่อดึงดูดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่เพียงชาวญี่ปุ่นแต่รวมถึงจากประเทศอื่น ๆ ด้วย
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์