เศรษฐกิจไอซ์แลนด์นับว่ามีอัตราการเติบโตที่สูง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของจํานวน นักท่องเที่ยวต่างชาติ (โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยุโรป) และ อุปสงค์ภายในประเทศ ส่งผลให้มีความต้องการจ้างงานในตลาดแรงงานสูง และมีอัตราการเติบโตของค่าจ้างอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ไอซ์แลนด์ขาดดุลการคลังและบัญชีเดินสะพัดเล็กน้อยและกําลังเผชิญกับสภาวะอัตราเงินเฟ้อสูง ถึงแม้จะมีการเพิ่มความเข้มงวดทางการคลัง
ตลาดไอซ์แลนด์เป็นตลาดเปิดขนาดเล็ก โดยการค้ากับต่างประเทศจะอยู่บนพื้นฐานของระบอบการค้าระหว่างประเทศ เช่น WTO และความตกลงด้านการค้ากับประเทศต่าง ๆ ที่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนและคาดการณ์ได้
อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซียยูเครน ส่งผลกระทบต่อระบอบการค้ารหว่างประเทศและทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงทําให้การค้าระหว่างประเทศ มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น โดยสถานการณ์ในตลาดโลกที่มีความไม่แน่นอน เป็นการเน้นย้ําว่า ความตกลง EEA มีความสําคัญอย่างมากต่อไอซ์แลนด์ เนื่องจากได้ทําให้ไอซ์แลนด์ได้เป็นส่วนหนึ่งของตลาดที่มีผู้บริโภค 450 ล้านคน ซึ่งมีค่านิยมร่วมกัน และด้วยการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จะทําให้ประเทศในกรอบ EEA ข้ามผ่านช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงนี้ไปได้
————- ปัจจุบัน ไอซ์แลนด์มีความตกลงด้านการค้า การลงทุน และ ความตกลงการค้าเสรีกับ 85 ประเทศ และ ดินแดน มี ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศและบันทึกความเข้าใจฯ กับมากกว่า 120 ประเทศ และมีอนุสัญญาเพื่อยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับ 46 ประเทศ |
บทวิเคราะห์และพัฒนาการของเศรษฐกิจไอซ์แลนด์
จากการรายงานของ OECD Economic Outlook คาดการณ์ว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไอซ์แลนด์จะเติบโตเพียงร้อยละ 1.9 เนื่องจากการส่งออกชะลอตัว แต่ในปี 2568 จะเติบโตร้อยละ 2.8 การบริโภคของภาคเอกชนจะยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งสะท้อนการปรับตัวลดลงของค่าจ้างงาน แต่จะเพิ่มขึ้นในปี 2568 เนื่องจากรายได้จะเพิ่มสูงขึ้น
การลงทุน จะไม่ขยายตัวในปี 2567 เนื่องจากความเชื่อมั่นยังคงเปราะบาง และสภาวะทางการเงินยังคงตึงตัว แต่ในปี 2568 จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อสภาวะทางการเงินผ่อนคลายลง
การท่องเที่ยวต่างประเทศ จะยังไม่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากข้อจํากัดด้านกําลังการผลิต และอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4 โดยปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว คือ จํานวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ลดลง
จากการรายงานของ S&P Global Ratings เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 ได้ระบุระดับเครดิตของไอซ์แลนด์ไว้ว่ามีเสถียรภาพ (outlook is stable) และให้เครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ และสกุลเงินท้องถิ่นในระดับ A+ เนื่องจากเศรษฐกิจของไอซ์แลนด์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยส่งเสริมสําคัญมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขาใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ ประมง ไอที และบริการ ในขณะที่ความต้องการพลังงานภายในประเทศยังสามารถรองรับได้ด้วยการผลิตพลังงานจากน้ํา และความร้อนใต้พื้นพิภพได้เองภายในประเทศ
ทั้งนี้ Fitch Ratings ได้รายงานไว้เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 ว่า อัตรารายได้ต่อหัวที่สูงมากและตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาลเป็นส่วนสําคัญที่ส่งเสริมอันดับเครดิต นอกจากนั้น ไอซ์แลนด์ยังมีทุนสํารองต่างประเทศที่เพียงพอและมีปัจจัยพื้นฐานด้านเครดิตที่เข้มแข็ง เช่น มีกองทุนบําเหน็จบํานาญที่ มีขนาดใหญ่ และภาคการธนาคารที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ดี ไอซ์แลนด์มีหนี้สาธารณะในระดับสูง และมีการกระจายการส่งออกที่จํากัด
การลงทุนจากต่างประเทศในไอซ์แลนด์ ด้านนวัตกรรมและ start-ups เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2-3 ปีนี้ เนื่องจากไอซ์แลนด์เป็นหนึ่งในผู้นําด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage – CCS) และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ําอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ไอซ์แลนด์ยังมีความก้าวหน้าในด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งบริษัทขนาดเล็กหลายบริษัทยังคงมีความต้องการ รวมถึงรัฐบาลไอซ์แลนด์ให้การส่งเสริมธุรกิจด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างแรงจูงใจทางภาษี
โดยที่ผ่านมาในปี 2566 รัฐบาลไอซ์แลนด์สนับสนุนงบประมาณให้กับบริษัทรถเช่าในไอซ์แลนด์ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นสีเขียว และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงยังมีนโยบายจะเพิ่มสถานีชาร์จรถไฟฟ้าให้มากขึ้นด้วย
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2567 EFTA มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจฉบับใหม่กับอินเดีย โดยข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมประเด็นสําคัญๆ ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงตลาดสําหรับสินค้าและบริการ ซึ่งจะอํานวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไอซ์แลนด์และอินเดียมากขึ้นด้วย
ข้อมูลเกี่ยวกับ Business Iceland : https://www.islandsstofa.is/en |
ข้อพิจารณาสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไอซ์แลนด์
ถึงแม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไอซ์แลนด์จะได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการท่องเที่ยว แต่เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ อาจทําให้จํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง รวมถึงการลงทุนจากต่างชาติมีจํากัด ประกอบกับความไม่แน่นอนในตลาดโลกยังมีสูง ดังนั้น รัฐบาลไอซ์แลนด์จึงต้องเตรียมการรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจที่อาจเติบโตน้อยลง
ไอซ์แลนด์อาจพิจารณาการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต และลดอัตราเงินเฟ้อ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการปฏิรูปอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และข้อกําหนดเกี่ยวกับใบอนุญาตหลายประการได้รับการผ่อนปรน อย่างไรก็ดี การเข้าถึงตลาดไอซ์แลนด์ยังมีข้อจํากัดและอุปสรรคอยู่มาก เนื่องจากข้อกําหนดต่าง ๆ
ไอซ์แลนด์มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 50 จากระดับในปี 1990 ภายในปี ค.ศ. 2030 และถึงแม้การผลิตกระแสไฟฟ้าในไอซ์แลนด์จะพึ่งพาพลังงานน้ําและความร้อนใต้พื้นพิภพ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด แต่เรือประมงซึ่งยังใช้น้ํามัน โรงถลุงอลูมิเนียม และภาคการเกษตรยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก ประกอบกับความต้องการพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากอุตสาหกรรม ดังนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นสีเขียว ไอซ์แลนด์ควรส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด และอาจพิจารณาปรับอัตราภาษีคาร์บอนให้สูงขึ้น ตลอดจน ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
โอกาสการค้าการลงทุนสําหรับประเทศไทย
ตลาดไอซ์แลนด์มีศักยภาพและชาวไอซ์แลนด์มีกําลังซื้อสูง ซึ่งสินค้าไทยและอาหารไทยนับว่าเป็นที่นิยมในไอซ์แลนด์ เนื่องจากชาวไอซ์แลนด์นิยมเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยและมีทัศนคติที่ดีกับไทย
โดยประเทศไทย (สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ /สคต.) ได้มีการรณรงค์การขายสินค้าไทย โดยเฉพาะอาหารไทยในซุปเปอร์มาร์เก็ตไอซ์แลนด์ รวมถึงสภาการค้าไอซ์แลนด์-ไทย (The Icelandic – Thai Trade Council) มีประสงค์ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตและภาคเอกชนของไทย ในการส่งเสริมการนําเข้าและขยายตลาดสินค้าไทยในไอซ์แลนด์
ดังนั้น การขยายตลาดสินค้าไทยโดยเฉพาะอาหารไทยในซุปเปอร์มาร์เก็ตไอซ์แลนด์ จึงน่าจะเป็นหนึ่งในโอกาสด้านการค้าสําหรับผู้ประกอบการไทย
นอกจากนี้ ความร่วมมือในภาคบริการน่าจะเป็นสาขาที่สามารถส่งเสริมจากฝ่ายไอซ์แลนด์ได้ และการดูแลผู้สูงอายุก็เป็นหนึ่งในจุดแข็งของภาคบริการของไทย ซึ่งไอซ์แลนด์มีความสนใจ และในขณะเดียวกันไอซ์แลนด์มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานใต้พื้นพิภพ จึงเห็นว่าไอซ์แลนด์น่าจะสามารถแลกเปลี่ยน best practices กับไทยได้ ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดของไทยได้
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล