ในปี พ.ศ. 2566 ภาวะเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) ของสิงคโปร์พุ่งขึ้นสูงสุด ในรอบทศวรรษที่ร้อยละ 4.8 ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จําเป็นในสิงคโปร์สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะ อาหาร พลังงาน และเชื้อเพลิง เนื่องจากสิงคโปร์จําเป็นต้องนําเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด รวมถึงภาวะเงินเฟ้อ ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลให้ค่าครองชีพของสิงคโปร์สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าปัญหาการ หยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มบรรเทาลงบ้างแล้ว แต่ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์จากการแข่งขันที่ตึงเครียดยิ่งขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ และการขาดแคลนแรงงานในหลายภาคอุตสาหกรรม ทําให้การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงในสิงคโปร์มีความท้าทายอย่างยิ่ง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2567 การฟื้นตัวในภาคการผลิต การท่องเที่ยว และการบริการน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของ เศรษฐกิจสิงคโปร์ โดยคาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 2.1 ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการคาดการณ์ของธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore: MAS) ที่คาดว่า GDP สิงคโปร์จะเติบโตขึ้นระหว่างร้อยละ 1 – 3 จากร้อยละ 1.1 เมื่อปี พ.ศ. 2566
ในปี พ.ศ. 2567 แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ของสิงคโปร์จะอยู่ระหว่างร้อยละ 2.5 – 3.5 โดย MAS ยังคงรักษานโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง แม้จะมีแรงกดดันให้ปรับลดราคาสินค้าภายในประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าการควบคุมนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดนี้จะยังคงดำเนินต่อไป อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานของสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2566 ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ทั้งนี้ รายละเอียดดัชนีค่าครองชีพและแนวโน้มค่าครองชีพปี พ.ศ. 2567 ในสิงคโปร์พร้อมแผนภาพประกอบ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ BIC สิงคโปร์ https://thaibizsingapore.com
ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2566 Julius Baer Group (สถาบันการเงินเก่าแก่ของสวิตเซอร์แลนด์) ได้จัดอันดับให้ สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดสําหรับกลุ่มผู้มีรายได้สูง (Upper Class) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดแต่กลับถือครองทรัพย์สินจํานวนมาก จึงทําให้มีอํานาจทางการเงิน การเมือง และเศรษฐกิจตามไปด้วย ตามด้วยเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ประสบความสําเร็จในความพยายามทําให้สิงคโปร์กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่และ talents จากทั่วโลกให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัย
MAS มีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2567 หลังจากเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา IMF ได้ปรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์จากร้อยละ 3.1 เป็นร้อยละ 3.2 ขณะที่ Enterprise Singapore คาดว่า non-oil domestic exports ของสิงคโปร์จะเติบโตร้อยละ 4 – 6 ในปี พ.ศ. 2567 แม้ว่าภาคการผลิตจะหดตัวลงในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2567 แต่ MAS คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะ memory chips
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์